นครพนม 6 ม.ค. – “สุริยะ” ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม กำชับเร่งรัดโครงการให้แล้วเสร็จตามแผน ห้ามล่าช้า เพื่อยกระดับศักยภาพการขนส่งทางราง เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค เชื่อเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของการค้าชายแดนในอนาคต
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ -มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ณ ห้องประชุมสำนักงานโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ – นครพนม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
นายสุริยะ เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่บ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562
มีเป้าหมายในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยจะมีเส้นทางผ่าน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม ซึ่งถือเป็นเส้นทางสำคัญที่ช่วยยกระดับศักยภาพการขนส่งทางรางทั้งผู้โดยสารและสินค้าภายในภูมิภาค และยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าชายแดนในพื้นที่อีกด้วย ทั้งนี้ ได้กำชับให้เร่งรัดโครงการให้แล้วเสร็จตามแผน และห้ามล่าช้า เพื่อช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่และเศรษฐกิจของประเทศ
ด้านนายวีริศ กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าวมีระยะทางรวม 354.783 กิโลเมตร วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 177.50 กม. และสัญญาที่ 2 ช่วง หนองพอก – สะพานมิตรภาพ ระยะทาง 177.28 กม. โดยจุดเริ่มต้นของโครงการจะเริ่มที่สถานีบ้านไผ่ และสิ้นสุดโครงการที่สถานีสะพานมิตรภาพ 3 ซึ่งประกอบด้วยสถานีรถไฟทั้งหมด 18 สถานี ป้ายหยุดรถไฟ 12 แห่ง ทางรถไฟระดับพื้นดิน 346 กม. และทางรถไฟยกระดับ 9 กม. (ช่วง อ.เมือง จ.มหาสารคาม 4 กม. และ อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด 5 กม.) ย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) 3 แห่ง (สถานีร้อยเอ็ด สถานีสะพานมิตรภาพ 2 และ 3) รวมถึงลานบรรทุกตู้สินค้า (Loading Yard) 3 แห่ง (สถานีภูเหล็ก สถานีมหาสารคาม และสถานีโพนทอง)
ปัจจุบัน ความคืบหน้าการก่อสร้างทั้งโครงการมีแผนงานก่อสร้างสะสม 38.678% และผลงานก่อสร้างสะสม 9.760% โดยแบ่งเป็นสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก มีความคืบหน้าแผนงานก่อสร้างสะสม 40.443% และผลงานก่อสร้างสะสม 19.292% และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ มีความคืบหน้าแผนงานก่อสร้างสะสม 36.989% และผลงานก่อสร้างสะสม 0.636%
หากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าในปี 2570 จะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้มากกว่า 3.8 ล้านคนต่อปี และรองรับปริมาณการขนส่งสินค้ากว่า 700,000 ตันต่อปี ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางบนเส้นทางสายใหม่ด้วยรถไฟที่มีความรวดเร็วและปลอดภัย ช่วยพัฒนาศักยภาพการขนส่งทั้งในด้านโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ เพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการลงทุนในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการค้าและการท่องเที่ยวระดับโลก โดยเฉพาะในจังหวัดมุกดาหาร และนครพนม ให้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของการค้าชายแดนในอนาคต.-513-สำนักข่าวไทย