กรุงเทพฯ 24 ธ.ค. – “นภินทร ฉายาสื่อ..รมต.โลกลืม..” โชว์ผลงานเด่นปี 67 “สร้างโอกาสให้ SMEs – สกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้าไทย– ขจัดนอมินี – แก้ปัญหาสินค้าเกษตรแบบไม่ประกันราคา ลดงบรัฐกว่า 1 แสนล้านบาท” แม้ไม่เข้าตาแต่เข้าถึงผลประโยชน์ของประชาชน
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีสื่อมวลชนให้ฉายาว่า “รมต.โลกลืม” ตนเข้าใจว่าเป็นบุคคลสาธารณะ มีโอกาสที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ที่ผ่านมาในปี 2567 ได้ทำงานสร้างผลงานที่ประชาชนได้ประโยชน์ เพราะกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ที่ตลอดทั้งปี 67 สินค้าเกษตรได้ราคาดี พี่น้องเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระหนี้สิน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้มาตรการบริหารจัดการในเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ แทนการประกันรายได้สินค้าเกษตร โดยให้กลไกตลาดทำงานใด้อย่างสมดุล ลดการใช้งบประมาณของรัฐไปได้กว่า 101,000 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและเพิ่มรายได้เกษตรกรกว่า 200,000 ล้านบาท สำหรับปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ทุเรียนไทย ไปสู่จีน ได้เจรจาแก้ปัญห ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้เมื่อช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ราคาทุเรียนไทย ได้ราคาหน้าสวนดีถึงกิโลกรัมละ 230 บาท
กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้า ในการเพิ่มสัดส่วนการตลาดของ SME เป็น 40% ในปี 2570 เพราะปัจจุบัน SME ไทยมีจำนวนเยอะมาก คิดเป็นสัดส่วน 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด มีการส่งเสริมเช่น งาน “มหกรรมรวมพลัง SME ไทย” ต่อยอดและสร้างตลาดใหม่ ๆ จำนวน 193,000,000 บาท และมีการจำหน่ายสินค้าและบริการ 7,200,000 บาท รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทันทีกว่า 200 ล้านบาท และยังมีการเร่งการขึ้นทะเบียนรับรองสินค้า GI เพื่อเพิ่มมูลค่าและหาตลาดพรีเมี่ยมให้กับสินค้า ในปี 2567 ได้มีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI เพิ่มทั่วประเทศ 25 รายการ รวมสินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 216 รายการ และภายใน 1 ปี สร้างมูลค่าตลาดเพิ่มกว่า 22,000 ล้านบาท โดยมีมูลค่าตลาดทั้งสิ้นกว่า 77,000 ล้านบาท” ถือว่าสร้างมูลค่าให้กับสินค้าชุมชนสูงที่สุดตั้งแต่มีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI มา ซึ่งทั้งหมดนี่คือ ผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ยังมีการเร่งแก้ไขปัญหาใหญ่ระดับชาติ ได้แก่ 1) ปัญหาธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว หรือนอมินี แก้ปัญหาการเปิดบัญชีม้าของนิติบุคคลและการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) สำนักงานป้องกันและปราบปรางการฟอกเงิน (ปปง.) ปราบปรามผู้กระทำความผิดไปแล้วกว่า 747 ราย โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 11,720 ล้านบาท และยังยังเดินหน้าตรวจสอบการจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อป้องกันปัญหา และร่วมปราบปรามผู้กระทำผิดที่เปลี่ยนวิธีการในรูปแบบต่าง ๆ ที่ใช้หลอกลวงประชาชน ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์เองได้ติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา และ ในขณะเดียวกัน ก็แก้ ปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ โดยบังคับใช้มาตรการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่เข้าสู่ประเทศไทยอย่างเข้มข้น ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จำนวน 823 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้าสินค้าลดลงเฉลี่ย 833 ล้านบาท/เดือน (คิดเป็น 27%) จากเดิมมีมูลค่าการนำเข้า 3,112 ล้านบาท/เดือน ลดลงเหลือ 2,279 ล้านบาท/เดือน.-511-สำนักข่าวไทย