กรุงเทพฯ 15 ธ.ค.-นักเศรษฐศาสตร์ เผยปัจจัยดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ต้องมีทักษะแรงงานคุณภาพ ปลอดคอร์รัปชัน เสถียรภาพระบอบประชาธิปไตย หนุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนขยายโอกาสการศึกษา
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า บรรษัทข้ามชาติเจ้าของเทคโนโลยีและธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคตยังมุ่งการลงทุนและตั้งศูนย์กลางของภูมิภาคไปยังประเทศที่มีทักษะแรงงานคุณภาะทั้งด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการต่อยอดนวัตกรรม ภาครัฐโปร่งใสปลอดทุจริตคอร์รัปชัน มีความคงเส้นคงวาและความต่อเนื่องของนโยบาย รวมทั้ง เสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย ล้วนเป็นปัจจัยดึงดูดโครงการการลงทุนระยะยาว เพราะโครงการขนาดใหญ่ระยะยาวจะไปยังประเทศที่มีความพร้อมที่สุด และตั้งฐานในการส่งออก
นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนขั้นต่ำไม่ก่อปัญหาต้นทุนต่อภาคธุรกิจและภาคการผลิต ค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องปรับตัวขึ้นสูง เป็นเพียงแนวโน้มสำคัญหนึ่งของตลาดแรงงานไทยและตลาดแรงงานในเอเชียเท่านั้น ยังมีแนวโน้มอื่นๆอีก เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์หรือสมองกลอัจฉริยะแทนแรงงานมนุษย์ ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัวต่อแนวโน้มต่างๆ รัฐต้องมีนโยบายและมาตรการอันเหมาะสมในการตอบสนอง ไม่เช่นนั้นแล้วจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจในมิติใดมิติหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
แนวโน้มที่สำคัญและยังเป็นแนวโน้มที่ช่วยอธิบายเราว่า ค่าจ้างในไทยแพงหรือไม่ คือ ผลิตภาพแรงงานไทยในอนาคตว่าเป็นอย่างไร ปัจจุบันผลิตภาพแรงงานไทย (Labor Productivity) เติบโตระดับหนึ่งแต่ไม่สูงเท่าจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ดีกว่า ลาว เขมร เมียร์มาร์ นอกจากนี้แรงงานไทย ในวัยทำงานยังมีแนวโน้มลดลง โดยในทศวรรษนี้จะเพิ่มเพียง 0.2% เท่านั้น ขณะที่ทศวรรษก่อน เพิ่มน้อยอยู่ 1% แล้วแรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ ยังทำงานนอกระบบเป็นส่วนใหญ่ เกือบครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานไม่ใช่ลูกจ้างระยะยาวที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน
ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ขอสนับสนุนแนวคิดในการฟื้นฟูนโยบาย 1 อำเภอ 1 ทุนศึกษา เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และ ขอเสนอว่า โครงการดังกล่าวควรอยู่ภายใต้การดูแลของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อจักได้ผนวกรวมงานขยายโอกาสทางการศึกษาเข้าด้วยกัน เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ ประเทศไทยยังมีปัญหาความยากจนข้ามรุ่นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขจึงจะหลุดพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลาง รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคเพื่อทำให้ครอบครัวรายได้น้อยหรือครัวเรือนยากจนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา
การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพจะทำให้สมาชิกในครอบครัวมีทักษะในการทำงาน มีรายได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และมีความสามารถในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ การเพิ่มโอกาการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงานจึงเป็นการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ดีกว่ามาตรการประชานิยมแจกเงินทั้งหลาย ด้านนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน นโยบาย 1 อำเภอ 1 ทุน หากสามารถดำเนินการได้จะเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศในระยะยาว คุณภาพการศึกษาไทยนั้นตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง
ผลการศึกษาวิจัยยังพบว่า การลงทุนในเด็ก Investment in Children ครัวเรือนรวยลงทุนในเด็กสูงกว่าครัวเรือนยากจน หลายเท่าตัว 5-10 เท่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิต สังคมและชีวิตของผู้คน นอกจากนี้ Disruptive Technology ยังส่งผลต่อระบบการศึกษาที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวพลิกโฉมครั้งใหญ่และสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อพลวัตดังกล่าว
ในช่วงงบประมาณปี 2561-2567 กองทุน กยศ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเลย จนกระทั่งมีการของบประมาณในปี งบประมาณ 2568 เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากในปีงบประมาณ 2568 กองทุนต้องจ่ายเงินกู้ยืมและภาระผูกพันจ่ายเงินกู้ยืมกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท ส่วนรายรับจากการชำระหนี้มีเพียง 2.7 หมื่นล้านบาท เงินสดสะสมอาจติดลบเร็วๆนี้ และ จะเกิดปัญหาสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการศึกษาได้ ขณะนี้มีผู้กู้ยืม กองทุน กยศ กว่า 7.1 ล้านราย อยู่ในระหว่างการชำระหนี้ 3.6 ล้านราย ชำระหนี้เรียบร้อย 1.9 ล้านราย
ยอมรับว่า การลงทุนทางการศึกษาคุ้มค่าที่สุดเมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม คือ การลงทุนการศึกษาในช่วงปฐมวัย เด็กประถมจำนวนมากในหลายประเทศรวมทั้งไทยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทักษะทางคณิตศาสตร์ ทักษะทางด้านสังคมอ่อนแอลงเพราะหยุดเรียนในชั้นเรียนไปนานจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เด็กนักเรียนจะมีปัญหาทางการศึกษาในการเรียนรู้ขั้นสูงต่อไปในระดับอุดมศึกษา เด็กเหล่านี้จะมีความ “อ่อนแอ” ในวิชาพื้นฐานต่างๆที่ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อในขั้นสูงได้เลย และ ประเทศไทย จึงขาดกำลังทั้งที่มีความรู้พื้นฐานและความรู้ขั้นสูงและการวิจัยด้านต่างๆ.-515.-สำนักข่าวไทย