กรุงเทพฯ 14 พ.ย. – ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนตุลาคม ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม และเริ่มเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 49.6 53.5 และ 65.1 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกันยายน ที่อยู่ในระดับ 48.8 52.7 และ 64.4 ตามลำดับ การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55.3 เป็น 56.0 แม้ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน แต่การที่ยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนทุกรายการ แสดงว่า ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในอนาคตได้
ทั้งนี้ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นได้แก่
- การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 25,983.18 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.12% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,588.99 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.84% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 394.19 ล้านดอลลาร์ ทำให้ช่วง 9 เดือนของปี 2567 ส่งออกได้รวม 223,175.98 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.87% และมีการนำเข้ารวม 229,132.83 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.51% ส่งผลให้ขาดดุลการค้ารวม 5,956.85 ล้านดอลลาร์
- ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีเกือบทุกรายการสำคัญ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
- ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) อยู่ที่ระดับ 34.88 และ 35.25 บาทต่อลิตร ณ สินเดือนดลาคม 2567ตามลำดับ ส่วนราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมาเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 32.94 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2567
- SET Index ในเดือนตลาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.21 จุด โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,448.83 จุด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 เป็น 1,466.04 จุด ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2567
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายเวลาคงอัดราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้ที่ 7% ต่ออีก 1 ปี โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2568 เพื่อส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
- รัฐบาลออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 – 30 พฤศจักายน 2567 และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นการสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์
ส่วนปัจจัยลบได้แก่
- ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่า เศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าค่าครองชีพ รวมถึงผู้บริโภคยังรู้สึกว่า รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
-ความกังวลต่อสถานการณ์น่าท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร
-ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาส (Hamas) ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันและพลังงานโลกยังทรงตัวสูง และกระทบต่อต้นทุนทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการพื้นด้วของระบบเศรษฐกิจโลกให้ข้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
-เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับ 33.356 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 เป็น 33.372 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2567 ทำให้มีความกังวลว่า จะส่งกระทบในเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก
รศ.ดร.ธนวรรธน์ ย้ำว่าการที่ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2567 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เป็นผลจากผู้บริโภคมีคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม และเริ่มเห็นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หากรัฐบาลขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่องและไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติมทั้งความเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศ ผู้บริโภคก็เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาได้. -512-สำนักข่าวไทย