กรุงเทพฯ 1 ต.ค.- ทีทีบี แนะผู้ประกอบการไทยปรับตัวรับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน ทั้งการค้าโลกและค่าเงินผันผวน โดยเฉพาะตลาดในเอเชีย คาดจีดีพีปีหน้าขยายตัวได้ 3% จากปีนี้อยู่ที่ 2.6%
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี จัดสัมมนา ttb I Global Trade & FX Forum ภายใต้หัวข้อ “The Future of Asia : Economic Trends and Trade Challenges for Thailand 2025”โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายด้านมาให้ความรู้ผุ้ประกอบการไทย
นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า อิทธิพลของภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางการค้า ความไม่แน่นอนทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นปัญหาหลักที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งถือเป็นความท้าทายและเป็นความเสี่ยงอย่างมาก สำหรับผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนยังเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงนโยบายของจีนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและโอกาสทางการค้าของธุรกิจทั่วโลก ในขณะที่ตลาดเอเชียยังคงมีศักยภาพในการเติบโตสูง ซึ่งการเข้าถึงตลาดเหล่านี้ช่วยกระจายความเสี่ยงและเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต นับเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศต้องมีความเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจ ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง รักษาความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตในระยะยาว
นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ทีทีบี มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% จากปีนี้อยู่ที่ 2.6% ด้านการบริโภคอยู่ที่ 2-3% จากปีนี้ 4% ไทยยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ส่วนภาพรวมการค้าโลกมีอยู่ 3 ธีม ได้แก่ 1.Deglobalization จะเห็นว่าการค้าโลกไม่ได้อยู่กับประเทศพัฒนาแล้ว แต่อยู่กับตลาดเกิดใหม่ที่มีสัดส่วนสูงถึง 60% เนื่องจากการค้าในเอเชียมีความเสี่ยงน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนการค้าเพียง 40% เพราะมีปัญหากีดกันทางการค้า 2.Decoupling จะเห็นจีนส่งออกมาไทย โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และเหล็ก และปัญหาจะรุนแรงมากขึ้น และ 3.ESG Standard จะมีผลกระทบจากมาตรการที่เพิ่มขึ้นจาก 40 มาตรการไปถึงกว่า 100 มาตรการ
ส่วนการลงทุนเอกชนในไทยปรับดีขึ้น 3-4% จาก 0.8% ส่วนหนึ่งมาจากการเข้ามาลงทุนของจีน ซึ่งหนีจากสหรัฐ สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายภาครัฐที่ปรับดีขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจีนประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังคาดจีดีพีจีนอาจโตไม่ถึง 5% แต่ตลาดอาเซียนหรือตลาดเกิดใหม่ยังเติบโต โดยเฉพาะภาคบริการ โรงแรม แต่ภาคการผลิตยังซึมตัว แม้จะไม่วิกฤต แต่ไม่ค่อยโต การผลิตกำลังลำบาก ภายใต้ สิ่งที่เรียกว่า ”จีนสะดุด โลกกระอัก”
“ Policy Maker จะต้อง เข้ามาดูแลในเรื่องของการค้าโลก เพราะจะเห็นว่าสินค้าจีนส่งออกมาไทยจำนวนมากพอ ๆ กับเวียดนาม แต่จะเห็นว่าจีนไม่ได้นำเข้าสินค้าไทย แต่นำเข้าจากเวียดนาม ไทยขาดดุลจีนเยอะมาก อย่างไรก็ตาม จีน ที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เริ่มเห็นการเข้ามาลงทุนในอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยที่มีเม็ดเงินสูงขึ้นเรื่อย ๆ” นายนริศกล่าว-511 .-สำนักข่าวไทย