กรุงเทพฯ 5 ก.ย. –สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า เสนอรัฐบาลใหม่อุ้มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนในประเทศ ผลักดันไทยศูนย์กลางส่งออก ยอมรับลดราคารุนแรง พร้อมโรมมิ่งรวมแอปชาร์จไฟฟ้า เร่งเติมความรู้อู่ซ่อมรถยนต์ไฟฟ้า
นายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยคนใหม่ กล่าวว่า จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ไฟแนนซ์ปฏิเสธให้กู้ จึงคาดว่ามียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 80,000 คัน จากเป้าหมายในปี 67 จำนวน 1 แสนคัน จึงเสนอรัฐบาลชุดใหม่เร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อเติมกำลังซื้อให้กับประชาชน การออกหลายมาตรการดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อตั้งฐานการผลิตในประเทศ และส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา ไปต่างประเทศ ทดแทนกำลังซื้อในประเทศซึ่งยังหดตัว เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าเหมือนกับเคยเป็นเบอร์ 1 ส่งออกปิ๊กอัพไปต่างประเทศ
ยอมรับว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแข่งขันกันรุนแรงมาก บางค่ายปรับลดราคา 2.4-2.5 แสนบาทต่อคัน จึงกระทบต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของประชาชน ขอแนะนำว่า รถยนต์ไฟฟ้าเหมือนกับเครื่องมือถือ ราคาจะไม่ปรับลดลงมาก เพราะยังมีต้นทุนการผลิต กรณีระบุว่ารถจีนล้นสตอก จึงมานำลดราคาในเมืองไทยนั้น ต้องดูว่าเป็นพวงมาลัยซ้าย หรือว่าพวงมาลัยขวา และอยากให้รัฐบาล กำหนดให้ใช้ชิ้นส่วนในประเทศเป็นหลัก ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การออกมาตรการดึงดูการลงทุนกับค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ระดับโลก เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ
นายอุเทน สุปัตตุ อุปนายกสมาคมยายนต์ไฟฟ้าไทย ฝ่ายวิชาการและการพัฒนาบุคคลากร กล่าวว่า เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยม ตามกระแสประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวต้อง จึงต้องอบรม เติมความรู้ให้กับอู่ทั่วไป รองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อใช้รถเป็นเวลานาน พ้นกำหนดการรับประกันจากค่ายรถยนต์ ประชาชนจะวิ่งหาอู่รับซ่อมรถ ยอมรับระบบการซ่อมรถไฟฟ้า มีการเข้ารหัส มีกล่องควบคุม มีความซ้ำซ้อน การซ่อมจึงแตกต่างจากรถสันดาบเครื่องยนต์น้ำมัน จึงต้องเติมความรู้ให้กระจายออกไปมากขึ้น
นายจาตุรงค์ สุริยศศิน อุปนายกสมาคมยายนต์ไฟฟ้าไทย ฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า เมื่อมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รัฐบาลต้องดึงดูดให้ผู้ประกอบการตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าสะดวกมากขึ้น สมาคมฯ พยายามโรมมิ่ง รวบรวมแอปฯ บริการชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ของหลายราย ให้มารวมอยู่ภายในแอปฯ เดียว เพื่อให้รถยนต์ทุกค่ายใช้บริการได้เหมือนกัน และควบคุมค่าบริการให้มีมาตรฐานมากขึ้น จากปัจจุบันสถานีชาร์จไฟฟ้าคิดค่าบริการแตกต่างกันตามต้นทุน อีกทั้ง 3 การไฟฟ้า อย่าง กฟน., กฟผ., กฟภ. ยังได้หารือร่วมกันหาแนวทางรองรับวิกฤติการชาร์จไฟฟ้าในช่วงกลางคืน หากประชาชนชาร์จไฟฟ้าในช่วงกลางคืนจำนวนมาก เพราะมีราคาถูกเพียง 2.6 บาทต่อหน่วย จึงต้องหาทางป้องกันไฟตกไฟดับในช่วงกลางคืน.-515 -สำนักข่าวไทย