กรุงเทพฯ 5 ก.ย. – GGC เผยความคืบหน้าคดีถึงที่สุดกรณีปัญหาเรื่องวัตถุดิบคงคลังขาดหาย เชื่อมั่นความโปร่งใส ยืนยันผลพิพากษา ส่งผลดีต่อบริษัท เร่งฟ้องผู้ทำให้เสียหายทั้งอดีตผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง ส่วนกรณีชดใช้ ACAP ได้ตั้งสำรองความเสียหายไว้ปี 64 แล้ว จึงไม่มีผลกระทบทางลบกับผลประกอบการของบริษัทฯ
นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยความคืบหน้าด้านคดีความถึงที่สุดในปี 2567 หลายคดี ส่งผลดีต่อบริษัทเป็นอย่างมาก โดยพบว่ามีคดีสำคัญ ดังนี้
คดีที่บริษัทฯ เป็นโจทก์ฟ้องคู่ค้าผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ คดีถึงที่สุดแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยศาลอุทธรณ์ตัดสินให้จำเลยชำระเงินให้แก่บริษัทฯ จำนวน 299.90 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ผิดสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดี
คดีที่บริษัทฯ ตกเป็นจำเลยเรื่องผิดสัญญาใช้บริการถังเก็บผลิตภัณฑ์และละเมิด ซึ่งมีทุนทรัพย์ที่ฟ้องจำนวน 449.77 ล้านบาท คดีถึงที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ตัดสินยกฟ้องบริษัทฯ ส่งผลดีให้บริษัทไม่ต้องชำระเงินตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องดังกล่าว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 บริษัทฯ ได้แจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงผลพิพากษาคดีที่บริษัทฯ ตกเป็นจำเลย ซึ่งเป็นกรณีที่อดีตผู้บริหารร่วมมือกับบริษัท อนัตตา กรีน จำกัด (คู่ค้า) ทำเอกสารการซื้อขายวัตถุดิบอันเป็นเท็จ เพื่อให้คู่ค้านำเอกสารไปเบิกเงินกู้จากบริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ACAP) และคู่ค้าได้โอนสิทธิการรับเงินตามสัญญาให้แก่ ACAP ซึ่งภายหลังจากที่บริษัทฯ ตรวจพบปัญหาวัตถุดิบคงคลังกลางปี 2561 ทาง ACAP ได้นำเอกสารมาเรียกร้องให้บริษัทฯ ชำระหนี้ค่าวัตถุดิบรวม 11 รายการ แต่บริษัทฯ ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเอกสารที่ไม่อยู่ในระบบของบริษัทฯ และไม่พบหลักฐานการส่งมอบวัตถุดิบจากคู่ค้า บริษัทฯ จึงปฏิเสธการชำระเงิน และต่อมาในเดือนสิงหาคม 2561 ACAP ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เรียกร้องให้บริษัทอนัตตาฯ และบริษัทฯ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับ ACAP จำนวน 289.56 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หากบริษัทฯไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วน ให้บริษัทอนัตตาฯ ชำระหนี้ส่วนที่เหลือ บริษัทฯ จึงยื่นฎีกา และเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ศาลฎีกาพิพากษาแก้ โดยลดดอกเบี้ยจากร้อย 15 ต่อปี เป็นร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดแต่ละสัญญา จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป คิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 400 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทฯ ได้ตั้งสำรองความเสียหายจากคดีดังกล่าวไว้แล้วจำนวน 444 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ สามารถกลับรายการตั้งสำรองได้ประมาณ 44 ล้านบาท จึงไม่มีผลกระทบทางลบกับผลประกอบการของบริษัทฯ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การกระทำของอดีตผู้บริหารและบริษัทอนัตตาฯ ดังกล่าวข้างต้นทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย โดยบริษัทฯ ได้แจ้งความดำเนินคดีอาญากับบุคคลดังกล่าว และเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งด้วย ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ฟ้องอดีตผู้บริหารเพื่อไล่เบี้ยความเสียหายจากกรณีดังกล่าวข้างต้นด้วย โดยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้อดีตผู้บริหารมีความผิดจริงและให้ชดใช้ค่าเสียทั้งหมดคืนให้แก่บริษัทฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการบังคับคดี
บริษัทฯ ได้มีการดำเนินการด้านคดีความอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้คดีความต่าง ๆ มีความคืบหน้ามาก ดังนี้
- ความคืบหน้าคดีอาญา คดีอยู่ในชั้นศาล 3 คดี ตัดสินลงโทษจำเลยแล้ว 1 คดี อยู่ในชั้นอัยการ 1 คดี และอยู่ในชั้นสอบสวนอีก 4 คดี
- ความคืบหน้าคดีแพ่ง กรณีที่บริษัทฯ เป็นโจทก์มีอยู่ 5 คดี บริษัทฯ ชนะคดีทั้งหมดและคดีเกือบทั้งหมดถึงที่สุดแล้ว กรณีที่บริษัทฯ เป็นจำเลย มีอยู่ 6 คดี บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล 2 คดี ชนะคดีแล้ว 3 คดี ยกเว้นคดีข้างต้น
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา GGC ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหากรณีวัตถุดิบคงคลังขาดหาย เพื่อพิสูจน์ความโปร่งใสของบริษัทฯ และเพื่อประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นทั้งหมดอย่างต่อเนื่องเสมอมา” นายกฤษฎา กล่าว. -511- สำนักข่าวไทย