กรุงเทพฯ 5 ก.ย. – เงินบาทแตะจุดแข็งค่าสุดของเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.88-33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ (เวลา 09.33 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเงินบาทแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ทั้งเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก และสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย โดยเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์หรับฯ หลังจากที่ข้อมูลล่าสุดของตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีสัญญาณที่ค่อนข้างอ่อนแอ โดยเฉพาะตัวเลขการเปิดรับสมัครงานที่ปรับตัวลง 237,000 ตำแหน่ง มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่งที่ 7.67 ล้านตำแหน่งในเดือน ก.ค. (ตลาดคาดที่ 8.1 ล้านตำแหน่ง) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมหลังจากประธานเฟดสาขาแอตแลนตามีท่าทีเปิดรับต่อโอกาสของการปรับลดดอกเบี้ยก่อนที่เงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ 2%
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.80-34.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของไทย และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือนส.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ด้านายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบเงินบาท ในระดับ 33.85-34.30 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทที่แข็งค่าสอดคล้องกับที่ประเมินไว้ในช่วงต้นสัปดาห์ว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนสองทิศทาง (Two-Way Volatility) ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น การเคลื่อนไหวของเงินบาทก็สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ย จากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี ยังคงมองว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจชะลอลงแถวโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ หลังความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อน้ำมันดิบในช่วงนี้ได้ (ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดใหม่ของปีนี้) และโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบดังกล่าวก็เป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่า ขณะเดียวกัน ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดในช่วงนี้ ก็อาจเปิดโอกาสให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้เช่นกัน
ส่วนวันนี้ที่กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขเงินเฟ้อ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ในเดือนสิงหาคม จะชะลอลงสู่ระดับ 0.43% จากผลของระดับฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงของปีก่อนหน้า (+0.16%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็อาจยังคงอยู่แถวระดับ 0.54% ซึ่งแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า ธปท. จะไม่ได้กังวลต่อการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวมากนัก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มทยอยสูงขึ้นกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้. -511-สำนักข่าวไทย