กรุงเทพฯ 19 ส.ค. – เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนครึ่ง ที่ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (เวลา 10.19 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อนที่ 35.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวมากกว่าคาด และรอลุ้น ครม.ใหม่
นส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย และการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดโลกที่ยังคงยืนเหนือแนว 2,500 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ได้ ขณะที่ Sentiment ของเงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุนเนื่องจากตลาดยังคงมีจุดสนใจอยู่ที่โอกาสความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ก.ย.นี้
นอกจากนี้ เงินบาทน่าจะมีปัจจัยบวกเพิ่มเติม หลังจากที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของไทยขยายตัวดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด โดยขยายตัว +2.3% YoY สูงกว่าตลาดคาดว่าจะขยายตัว 2.2% และสูงกว่า ไตรมาส 1/67 ที่ขยายตัว 1.6%
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 34.40-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การตอบรับของตลาดต่อตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ประเด็นทางการเมืองและสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ รวมถึงดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ก.ค. ของสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS กล่าวว่า ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าต่อเนื่อง สาเหตุเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสดใส ลดความน่าสนใจในการถือครองเงินดอลลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ทำให้เงินบาทได้แรงหนุนจากทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์
ในขณะที่รายงาน GDP ไตรมาส 2/67 ของไทย โดยเฉพาะการลงทุนและการเบิกจ่ายของภาครัฐ ว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น อาจส่งผลต่อมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจ และทิศทางนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ในการประชุมวันพุธนี้ โดยในส่วนของการประชุม กนง.นั้น ประเมินว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% และอาจยังไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มการทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย หากเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี และมีแนวโน้มเป็นไปตามคาดการณ์ของ กนง.
ส่วนประเด็นการเมืองนั้น ควรติดตามการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ เพื่อประเมินว่า ภาพดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเบิกจ่าย และการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาล อย่าง Digital Wallet หรือไม่
“แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า โมเมนตัมการแข็งค่ายังมีอยู่ แต่อาจชะลอลงบ้าง ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าได้ หากการจัดตั้ง ครม.ใหม่ มีแนวโน้มล่าช้า โดยคาดกรอบเงินบาทวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.70 บาท/ดอลลาร์” นายพูน ระบุ. -511- สำนักข่าวไทย