กรุงเทพฯ 20 ก.ค.- เอไอเอสร่วมมือภาครัฐสนับสนุนภารกิจ “ระเบิดสะพานโจร” ปกป้องคนไทย ปลอดภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ด้าน กสทช. เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อบริษัทชักชวนลงทุนตู้เติมเงิน ในลักษณะธุรกิจเครือข่าย
นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวในโอกาสร่วม กับ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละ บุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปอส.ตร. เปิดยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” โดยปฏิบัติการร่วมกับสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเร่งปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน ที่เข้ามาหลอกลวง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนคนไทย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก โดยในส่วนของเอไอเอส นั้น ยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนภารกิจดังกล่าวอย่างเต็มที่ ในแง่ของการบริหารจัดการเครือข่ายสื่อสารทั้งในพื้นที่เป้าหมายและในกรณีที่มีการพบพื้นที่ต้องสงสัย
สำหรับยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” เป็นการปฏิบัติการร่วมกับสำนักงาน กสทช. ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครือข่าย และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ โดยให้ตัดสัญญาณโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้อง ของไทยทั้งหมดที่คนร้าย ลักลอบนำมาใช้ในการเข้ามาหลอกลวง อย่างเด็ดขาด
พล.ต.ท.ธัชชัย กล่าวว่า เริ่มกดปุ่มปฏิบัติการแรก “ระเบิดสะพานโจร” ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งคนร้ายได้มีฐานปฏิบัติการในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ บริเวณโดยรอบคิงส์โรมัน ประเทศลาว โดยปัจจุบัน คิงส์โรมันเป็นสถานบันเทิงครบวงจรพร้อมมีสนามบินรองรับ นักท่องเที่ยวจากไทย ลาว และเมียนมา ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อสุจริตชนตามแนวชายแดนไทย นอกจากนี้ จะมีการขยายผลจับกุมดำเนินคดีกับผู้ให้บริการที่ผิดกฎหมาย เช่น ตู้ชิมที่ช่วยเหลือกลุ่มคนร้ายในการลงทะเบียนชิมมาหลอกลวงประชาชน รวมทั้งจัดการกับกลุ่มคนร้ายที่เป็นชาวต่างชาติและคนไทยที่ร่วมกันมาหลอกลวงทำร้ายคนไทยด้วยกันให้ถึงที่สุด
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า มีประชาชนแจ้งตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีบริษัทที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่งจาก กสทช. ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง โฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อชักชวนประชาชน กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า และข้าราชการเกษียณอายุ ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ ให้ร่วมลงทุนในลักษณะธุรกิจเครือข่ายเป็นตัวแทนจำหน่ายตู้เติมเงิน โดยเสนอกำไรและเงินปันผล รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ และอ้างว่าเป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นการลงทุนดังกล่าวสามาถทำได้อย่างที่ถูกต้องตามกฎหมาย
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า ขอเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อการชักชวนลงทุนในลักษณะดังกล่าว หรือการให้ผลตอบแทนเกินจริง เนื่องจากเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบกิจการมอบผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ใช้บริการในลักษณะของธุรกิจเครือข่าย หรือแสวงหาประโยชน์อื่นใดที่นอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคมตามที่ได้รับอนุญาต” ซึ่งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งขณะนี้สำนักงาน กสทช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างตรวจสอบบริษัทที่มีพฤติการณ์เช่นนี้ หากพบว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าวจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาด
สำหรับรูปแบบการโฆษณาชักชวนลงทุนดังกล่าว บริษัทใช้วิธีการส่งข้อความผ่านกลุ่มไลน์หรือการอบรมออนไลน์ ชักชวนให้เป็นตัวแทนจำหน่ายตู้เติมเงิน โดยต้องลงทุนค่าตู้เติมเงินมือถือตู้ละ 40,000 – 50,000 บาท และจะมีเงินปันผลให้วันละ 240 บาท เป็นเวลาต่อเนื่อง 500 วัน รวมเงินได้ทั้งสิ้น 120,000 บาท คิดเป็นผลตอบแทนจำนวน 80,000 บาท และหากลงทุนตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนศูนย์บริการ พร้อมเสนอรายได้และสวัสดิการต่าง ๆ หรือสำหรับผู้ใช้บริการซิมมือถือของบริษัท หากเติมเงินมือถือจะได้รับเงินตอบแทนอีก 2 เท่าของเงินที่เติม และหากเติมเงินติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน จะได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ การโฆษณาชักชวนในลักษณะดังกล่าวถือเป็นการมอบผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ใช้บริการในลักษณะของธุรกิจเครือข่าย หรือแสวงหาประโยชน์อื่นใดที่นอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคมตามที่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามที่ กสทช. กำหนด หากมีข้อสงสัยงติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลข 1200 .- 511 -สำนักข่าวไทย