กรุงเทพฯ 15 ก.ค. – กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือน 71 จังหวัดจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยอาจมีน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ย้ำ 15-18 ก.ค. ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ สทนช. เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกและลุ่มน้ำบางปะกง รวมถึงที่ลุ่มน้ำมูลเพื่อให้การอำนวยการบริหารจัดการน้ำและช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 6 เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทยและคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย โดยในช่วงวันที่ 15–18 ก.ค. 67 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
สำหรับจังหวัดที่คาดว่า จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งรวม 71 จังหวัดมีดังนี้
วันที่ 15 กรกฎาคม 2567
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลางได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุทัยธานี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร
- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 16 กรกฎาคม 2567
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลางได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 17-18 กรกฎาคม 2567
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตากสุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลางได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 15-18 ก.ค. 67
นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศกล่าวว่า ระหว่างวันที่ 15 – 18 กรกฎาคม เป็นช่วงที่จะต้องติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศเป็นพิเศษ โดยมี 3 ปัจจัยที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนในระยะนี้ได้แก่ มรสุมมีกำลังแรง ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนจึงต้องระวังฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรงทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยจึงขอให้เดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ตั้งแต่วันที่ 19 -24 กรกฎาคม ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ฝนยังตกต่อเนื่อง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังต้องระวังฝนตกสะสมต่อไปอีก 1-2 วัน จากนั้นวันที่ 21-24 กรกฎาคม ฝนจะเริ่มน้อยลง
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศให้พื้นที่ที่คาดว่า จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ตลอดจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดน่าน พะเยา พิษณุโลก สุโขทัย เลย สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราด และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด
พร้อมกำชับติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน รวมทั้งเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ให้พร้อมใช้งาน และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
นอกจากนี้ยังให้ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก ตลอดจนประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ล่าสุด สทนช. จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำบางปะกง ณ จังหวัดระยอง นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สทนช. ออกประกาศเฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมากแล้ว
สำหรับภาคตะวันออกมีบางพื้นที่ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกลงมามากและส่งผลให้มีน้ำท่วมขังเช่น จังหวัดชลบุรีและปราจีนบุรี จึงจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) เพื่อบูรณาการและอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่เพื่อป้องกันและแก้ไขอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงดินโคลนถล่ม ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งในวันเดียวกันนี้
ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา สทนช. เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำมูลเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลจากสถานการณ์ฝนหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้กลไกลการปฏิบัติงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) จะมีการประชุมติดตามข้อมูลด้านปัจจัยสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำรายวัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างคณะทำงานฯ จากนั้นจะมีการนำข้อมูลดังกล่าวมาประเมินวิเคราะห์ จัดทำแผนที่เสี่ยงภัย วิเคราะห์ ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง เพื่อประกาศแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดเพื่อบริหารจัดการน้ำ รวมถึงแจ้งเตือนไปยังจังหวัด อำเภอ สื่อมวลชนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่เพื่อเตรียมการรับมือเผชิญเหตุ โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) จะมีการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง. 512 – สำนักข่าวไทย