กรุงเทพฯ 9 ก.ค. – ธนาคารกรุงไทย ชี้อัตราเงินเฟ้อ มิ.ย.67 อยู่ที่ 0.62% ชะลอตัว หลังผลของฐานค่าไฟฟ้าต่ำสิ้นสุด และราคาอาหารสดปรับตัวลดลง คาดเงินเฟ้อไตรมาส 3/67 ต่ำกว่า 1% แนวโน้มเร่งตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมายไตรมาส 4/67
Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย.67 ขยายตัว 0.62%YoY เติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 1.54%YoY และต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 1.1% จากหมวดพลังงานที่ขยายตัว 2.43%YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 7.15%YoY ด้วยผลกระทบจากฐานค่าไฟที่ต่ำเมื่อปีก่อนสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาหมวดอาหารสดเติบโตได้เพียง 0.19%YoY ชะลอลงจาก 1.51%YoY ในเดือนก่อน ตามราคาเนื้อสัตว์ที่หดตัว และราคาผักสดที่ชะลอตัวลง เนื่องจากสภาพอากาศเริ่มเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกหลังจากสภาพอากาศร้อนจัดสิ้นสุดลง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.36%YoY ทรงตัวจากเดือนก่อนที่ระดับ 0.39%YoY โดยราคาสินค้าที่หดตัวปรับลดลง ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า อุปกรณ์ซักล้างทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคล เป็นต้น ส่วนราคาสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องดื่ม และค่าโดยสารสาธารณะ เป็นต้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 6 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.0%YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.41%YoY
Krungthai COMPASS คาดอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 3 จะอยู่ต่ำกว่า 1% ซึ่งเป็นขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในไตรมาส 4 ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อน สอดคล้องกับมุมมองของกระทรวงพาณิชย์ที่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 3 จะอยู่ใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ซึ่งอยู่ที่ 0.78%YoY อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวต่ำจากราคาอาหารสด โดยเฉพาะราคาผักสดที่ปรับลดลงหลังจากสิ้นสุดช่วงอากาศร้อนจัด ค่ากระแสไฟฟ้าที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน รวมถึงราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินซึ่งมีฐานที่สูงในปีก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 จะเร่งตัวขึ้นและเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากผลของฐานราคาพลังงานทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงกับ 6 เดือนแรกของปีที่ 0.4% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2560 – 2562) ที่ 0.6% สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ที่ปรับลดลงเหลือ 57.5 ในเดือน มิ.ย. จากเดือนก่อนที่ระดับ 57.9.-516-สำนักข่าวไทย