กรุงเทพฯ 4 มิ.ย.- สหพันธ์ขนส่งฯ เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ 11 มิ.ย. ทวงดีเซล 30 บาท/ลิตร ระบุขึ้นมาเป็น 33 บาท เดือดร้อนหนักขอให้ปรับโครงสร้างราคาพลังงานโดยเร็ว ด้านดีลเลอร์ปั๊มน้ำมันแจงผลกระทบหากไม่ใช่น้ำมันกลุ่ม ปตท.
นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุม ครม.วันอังคารที่ 11 มิ.ย.นี้ ทางสหพันธ์ฯ ซึ่งมี สมาชิก 12 สมาคมขนส่ง รถบรรทุกกว่า 4 แสนคันจากทั่วประเทศ ที่มีราว 1.5 ล้านคัน จะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้แก้ปัญหาราคาดีเซลแพง ซึ่งในช่วง 1 เดือนเศษ ราคาขยับขึ้นมาถึง 3 บาท/ลิตร จากไม่เกิน 30 บาท มาอยู่ที่ราว 33 บาท/ลิตร และรัฐบาลให้ตรึงราคานี้จนถึง 31 ก.ค.67 โดยการขยับราคาก็ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งเดือดร้อนเพราะทุกราคาดีเซลที่ขึ้น 1 บาท/ลิตร จะส่งผลต่อต้นทุน ร้อยละ 3-5 ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ถือว่าปรับขึ้นค่าขนส่งได้ยาก จึงอยากเห็นรัฐบาลทำตามที่หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้ง คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ ราคาดีเซลอยู่ที่ 30 บาท/ลิตร
“สหพันธ์ฯ ขอทวงถามว่า รัฐบาลหาเสียงดีเซล 30 บาท แต่ขณะนี้ขึ้นไปถึง 33 บาท/ลิตร หาก กลุ่มลูกค้าใหม่ ก็สามารถขึ้นค่าขนส่งได้ แต่ลูกค้าเก่าที่มีสัญญาผูกพันกันไว้ ก็ต้องไปเจรจาต้องใช้เวลา ก็อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแล อาจให้ 30 บาท เฉพาะกลุ่มขนส่งที่เป็นเด็กดี ไม่บรรทุกเกินกฎหมาย จะเป็นไปได้หรือไม่” นายทองอยู่ กล่าว
ทั้งนี้ สหพันธ์ฯ ได้ประชุม ไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยจะทำหนังสือถึงรัฐบาลใน 3 เรื่องหลักได้แก่ 1.ให้รัฐบาลช่วยดูแล กลุ่มผู้ขนส่ง เบื้องต้น ควรช่วยเฉพาะกลุ่มที่บรรทุกไม่เกินกฎหมายกำหนด เช่น ให้คูปองส่วนลดราคาน้ำมัน ราคา 30 บาท/ลิตร 2.ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ตั้งแต่โรงกลั่นน้ำมัน จนถึงค้าปลีก ซึ่งเข้าใจเรื่องการลดภาษีสรรพสามิตทำได้ยากเพราะภาษีสรรพสามิตก็รายได้ต่ำกว่าเป้าหมายไปแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท ก็ต้องไปดูส่วนอื่นๆ ว่าจะปรับอย่างไร ภาษีอะไรที่ซ้ำซ้อน ก็ควรทำให้เหมาะสม 3.สหพันธ์สนับสนุนการแก้ไข กฎหมายด้านเชื้อเพลิงให้ราคาขายมีความเป็นธรรม ไม่ใช่ให้ทุนพลังงานได้กำไรเกินควร
“ช่วงนี้จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการขนส่งก็เดือดร้อน ไม่สามารถขึ้นค่าขนส่ง ผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้ทั้งหมด ก็อยากเห็นรัฐบาลแก้เรื่องนี้ด้วย จะใช้โครงสร้างราคาพลังงานใหม่ ส่วนกองทุนน้ำมันฯ ที่ขาดทุนกว่าแสนล้านบาท หากไปดูดีๆ เป็นเงินอุดหนุนน้ำมันร้อยละ 60 ที่เหลืออุดหนุนก๊าซหุงต้ม ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นรถยนต์บ้าน ที่ไม่ใช่รถบรรทุกเป็นหลัก” นายทองอยู่ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะนี้ในสื่อสังคมออนไลน์ มีการรณรงค์ไม่เติมน้ำมันในปั๊ม กลุ่ม ปตท. โดยทางกลุ่มดีลเลอร์สถานีน้ำมัน ก็ได้มีการชี้แจงดังนี้ ว่าการรณรงค์ไม่เติมน้ำมัน ปตท. แล้วถ้าเป็นผลขึ้นมาจริง คนไทยส่วนใหญ่จะได้อะไรบ้าง 1.SMEs ขาดรายได้ เพราะร้อยละ 80 ของสถานีบริการและร้านค้าในสถานีบริการ รวมไปถึงร้านกาแฟอะเมซอน เจ้าของคือตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ที่ดำเนินธุรกิจแฟรนด์ไชน์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในแต่ละจังหวัด รวมแล้วเกือบ 3,000 ราย 2. กระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 56,000 ตำแหน่ง 3.ขาดกิจกรรมดีๆ เช่น การสร้างสถานีบริการในรูปแบบมาตรฐาน ห้องน้ำสะอาด มีสวนสวย universal design เพื่อการเข้าถึงของทุกคน และแยกแลกยิ้ม กำจัดขยะแล้วนำรายได้มาดูแลชุมชน สนามเด็กเล่น ลานออกกำลังกาย
- รายได้นำส่งรัฐฯ ลดลงเพราะร้อยละ 65 ของผู้ถือหุ้นใหญ่คือรัฐบาล เฉพาะเงินปันผลปีที่แล้วก็กว่า 50,000 ล้านบาท ที่เป็นรายได้ของรัฐฯ ใช้ไปในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ยังไม่รวมภาษีรายได้ประจำปี ที่รัฐได้จากกำไรของการดำเนินธุรกิจ 5.ลดความเชื่อถือของแบรนด์ไทยเวลาขยายการลงทุนไปต่างประเทศ เพราะปัจจุบันความนิยมของสถานีบริการ ปตท.ไม่ได้อยู่แค่ในประเทศ และการที่ ปตท.ไปสำเร็จในต่างประเทศก็จะช่วยดึง SMEs ไทยเติบโตตามไปด้วย สร้าง Thailand Brand จะเป็นเช่นไร สุดท้ายการทำเช่นนี้แล้วราคาน้ำมันในบ้านเราก็ไม่ลดลง ประเทศชาติและคนไทยก็ไม่ได้อะไร. -511-สำนักข่าวไทย