กรุงเทพฯ 5 พ.ค. – ศูนย์วิจัยประเมินหากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศในเดือน ต.ค 67 คาดจะเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ราว 0.1% ในปีนี้หลัง เงินเฟ้อเดือน เม.ย. 2567 พลิกกลับเป็นบวกและมีแนวโน้มเป็นบวกต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้โอกาสการลดดอกเบี้ยนโยบายน้อยลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนเม.ย. 2567 พลิกกลับเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ 0.19% YoY และปรับเพิ่มขึ้นที่ 0.85% MoM โดยเป็นผลจากราคาพลังงานจากราคาน้ำมันดิบโลกและราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากอุปสงค์ในประเทศยังมีจำกัด
เงินเฟ้อที่บวก และมีแนวโน้มกลับเข้าสู่เป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ที่ 1-3% ในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ และ กนง. มีแนวโน้มจะให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน และความผันผวนของค่าเงินบาทมากขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบายการเงินที่ตึงตังทั่วโลกนานกว่าคาด ส่งผลให้ กนง. มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ไปตลอดทั้งปีนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองเงินเฟ้อทั่วไปของไทยหลังจากนี้มีแนวโน้มเป็นบวกต่อเนื่อง โดยยังคงประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 ที่ 0.8% ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาครัฐอาจทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ และราคาผักสดและผลไม้สดที่มีแนวโน้มยังอยู่ในระดับสูงจากภาวะภัยแล้งจากสภาพอากาศร้อนจัดและฝนทิ้งช่วงนอกจากนี้ หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศในเดือนต.ค.2567 ตามรัฐบาลเสนอไว้คาดว่าจะเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ราว 0.1% ในปีนี้.-511-สำนักข่าวไทย