กรุงเทพฯ 9 เม.ย. – กรมอุทยานฯ ร่วมกับ ส.ป.ก.เห็นตรงกันถึงผลการตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อน หลังลงนาม MOU เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ คาดมีพื้นที่ทับซ้อน 190 แห่ง กว่า 5.2 แสนไร่ โดยจะนำพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมด รวมถึงพื้นที่พิพาทเขาใหญ่เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการ One Map หาข้อยุติ
นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายวัฒนา มังธิสาร รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ร่วมแถลงผลการดำเนินงานตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาที่แต่ละหน่วยงาน ภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จัดทำขึ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา โดยทั้งสองกระทรวงตกลงกันเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณา เรื่องแนวเขตที่ดินที่คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ ในการลงนาม MOU ครั้งนั้นยังตกลงการปฏิบัติงานร่วมกัน 4 ประการประกอบด้วย
- ประเด็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทั้งสองกระทรวงตกลงกันให้นำเข้าสู่การพิจารณาเรื่องแนวเขตที่ดินที่คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ที่ผ่านความเห็นจากคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติแล้ว หรือคณะอนุกรรมการที่มีการแต่งตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินในเรื่องแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มอบหมายเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมในคณะอนุกรรมการดังกล่าว แล้วเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณาเพื่อหาข้อยุติต่อไป
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดส่งข้อมูลแผนที่ในรูป Shape File แสดงพื้นที่ที่คาดว่า จะมีการทับซ้อน พื้นที่ที่ควรแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกิน หรือควรสงวนไว้ตามหลักวิชาการทางทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า (Corridors) พื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและพื้นที่แนวป่ากันชน รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การจัดที่ดินให้ราษฎร ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหา การอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เฉพาะพื้นที่ส่วนที่คาดว่าเป็นปัญหาทับซ้อนกับสำนักงาน การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหา การอยู่อาศัยและทำกิน หรืออนุรักษ์ไว้โดยไม่จัดสรรให้ประชาชน ภายใน 30 วัน
- ให้ความร่วมมือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในการแต่งตั้งคณะทำงาน พิจารณาแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร กรณีเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยจัดให้แก่บุคคลใดตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในแต่ละจังหวัด โดยมีผู้แทนของหน่วยงานที่กำกับดูแลที่ดินที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน รวมทั้งผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้แทนกรมป่าไม้
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะแต่งตั้งผู้แทนจากแต่ละหน่วยงาเป็นคณะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยน ข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสนับสนุนการจัดที่ดินให้ประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีการดำเนินการแล้ว ในส่วนแนวเขตป่าเขาใหญ่ได้ตกลงกันให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) โดยใช้หลักเกณฑ์ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้เสนอให้ครม.เห็นชอบแล้วเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้ได้ข้อยุติต่อไป
ส่วนผลการตรวจสอบ Shape File ตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาที่แต่ละหน่วยงานยึดถือ พบพื้นที่ที่คาดว่า จะทับซ้อนระหว่างพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ประกาศตามราชกิจจานุเบกษาแล้ว 291 แห่ง จำนวนพื้นที่ทับซ้อน 190 แห่ง เนื้อที่พื้นที่ทับซ้อนประมาณ 520,000 ไร่ โดยเห็นตรงกันว่า ต้องใช้กลไก One Map ชี้ขาดว่า เป็นพื้นที่ตามกฎหมายของหน่วยงานใดกันแน่
นายวัฒนา มังธิสาร รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ในพื้นที่ที่คาดว่า ทับซ้อนนั้น ระหว่างที่รอกลไก One Map ชี้ขาด ส.ป.ก. จะไม่ออกเอกสารส.ป.ก. 4-01 รวมทั้งตรวจสอบด้วยว่า หากเป็นพื้นที่ที่ออกส.ป.ก. 4-01 โดยมิชอบตามหลักเกณฑ์ของ ส.ป.ก. ต้องเพิกถอน แต่หากเป็นพื้นที่โดยชอบ จะปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน โดยไม่กระทบต่อราษฎรแต่อย่างใด
นายวีระ ขุนไชยรักษ์ อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพื้นที่เตรียมการป่าอนุรักษ์ 59 แห่ง ไม่มีพื้นที่ซับซ้อน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่แนวเชื่อมต่อป่าอนุรักษ์ (Corridor) 168 แห่งที่ออกส.ป.ก. 4.01 แล้ว 91 แห่ง เนื้อที่ 90,000 ไร่และแนวกันชนป่าอนุรักษ์ (Buffer Zone) ระยะ 3 กิโลเมตรจากพื้นที่อนุรักษ์ที่มีการออกส.ป.ก. 4-01 แล้ว 355 แห่ง เนื้อที่ 9.6 ล้านไร่ แม้อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน แต่ พื้นที่ทั้ง 2 ประเภทมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ไม้และสัตว์ป่าซึ่งกรมอุทยานฯ จะร่วมกับส.ป.ก. ส่งเสริมราษฎรให้ทำกินสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมต่อไป
กรมอุทยานฯ ยังได้ส่งรายชื่อเพื่อแต่งตั้งคณะทำงาน พิจารณาแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร กรณีเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยจัดให้แก่บุคคลใดตามกฎหมายว่าด้วยการ ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในแต่ละจังหวัด เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ทั้งกรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และส.ป.ก. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยน ข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสนับสนุนการจัดที่ดินให้ประชาชนอย่างยั่งยืนเรียบร้อยแล้ว
ทั้งสองหน่วยงานยืนยันว่า การดำเนินการร่วมกันดังกล่าว เป็นไปเพื่อให้การบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และการจัดการที่ดินให้ประชาชนเป็นไปด้วยความยั่งยืนและไม่เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต. -512-สำนักข่าวไทย