กรุงเทพฯ 2 เม.ย. -ธ.ก.ส. เผยปีบัญชี 66 อัดเม็ดเงินในภาคชนบท 8.6 แสนล้านบาท มุ่งลดหนี้ NPLs ลงสู่ร้อยละ 4 บอร์ด ธ.ก.ส. อนุมัติปล่อยกู้ สม. ประจำหมู่บ้าน ไม่เกิน 20,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.67 ต่อเดือน เริ่ม เม.ย. 67 นี้
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากปัญหา COVID-19 ความขัดแย้งทางการค้า ภัยธรรมชาติ ทำให้ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของ ธ.ก.ส. พุ่งสูงถึงร้อยละ 14.64 ในปีบัญชี 2565 หลังจากนำหลายมาตรการของรัฐบาลมาดูแลลูกหนี้ ทำให้ปีบัญชี 2566 สามารถลดยอดหนี้ NPLs ลงมาเหลือร้อยละ 5.5 คาดว่าจะควบคุม NPLs ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า ร้อยละ 4 ในปีบัญชี 2567
ธ.ก.ส. ได้เติมเม็ดเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและกระตุ้นการลงทุนภาคการเกษตรไปแล้วกว่า 859,575 ล้านบาท จึงยอดสินเชื่อคงเหลือ 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มจากต้นปีบัญชี 51,736 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.16 มียอดเงินฝากสะสม 1.89 ล้านล้านบาท เติบโตจากต้นปี 58,822 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 3.22 สร้างฐานการเติบโตในกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น สลาก ธ.ก.ส. ชุด ถุงทอง วงเงิน 100,000 ล้านบาท และสลากดิจิทัล เป็นต้น มีสินทรัพย์ 2.30 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.72 หนี้สินรวม 2.14 ล้านล้านบาท ส่วนของเจ้าของ 158,865 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ร้อยละ 12.75 สูงกว่าเกณฑ์ ธปท. กำหนด
ด้านการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย ให้กับเกษตรกรสัญญา ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท มีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application ของ ธ.ก.ส. BAAC Mobile ถึง 1.84 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 92 ของ ลูกค้าที่มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการ โดยมีลูกค้าแสดงความประสงค์เข้าหลักสูตรการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” จำนวน 1.3 แสนราย ธนาคาร พร้อมฟื้นฟูอาชีพให้ 3 แสนรายภายในเดือนกันยายน 2567 และมีมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับหนี้นอกระบบ ผ่านสินเชื่อเพื่อชำระหนี้นอกระบบ วงเงินไม่เกิน 20,000 บาท จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 545 ล้านบาท และสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเกษตรกรและผู้ยากจน 9,572 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ 713,013 ราย เป็นเงินกว่า 60,389 ล้านบาท จากปัญหาความขัดแย้ง ในต่างประเทศ ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและบุคคลในครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะความไม่สงบในประเทศอิสราเอล สำหรับนำไปชำระหนี้สินเดิม จากการกู้เงินไปทำงานอิสราเอลและลงทุนประกอบอาชีพใหม่ ส่วนของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการฟื้นฟูศักยภาพผู้เลี้ยงสุกร ผ่านสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ รายละไม่เกิน 100,000 บาท
รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อเพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนและชำระหนี้สินเดิม รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 11,016 ราย กว่า 2,782 ล้านบาท โครงการสินเชื่อแทนคุณ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยเปิดให้ทายาทเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 3,433 ล้านบาท โดยมีทายาทเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 3,687 คน
ล่าสุดคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เห็นชอบให้จัดทำโครงการสินเชื่อเงินด่วนคนดี วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลให้กับ อสม. ประจำหมู่บ้าน และ กู้รายละไม่เกิน 20,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.67 ต่อเดือน หรือร้อยละ 8 ต่อปี เริ่มปล่อยสินเชื่อได้ภายในเดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป.-515-สำนักข่าวไทย