ปทุมธานี 24 มี.ค. – อธิบดีกรมการค้าภายใน เตรียมนำสินค้าผลไม้แปรรูป เช่น มะม่วง มะพร้าว ไอศกรีม มาร่วมงานมหาสงกรานต์ท้องสนามหลวงกลางเดือน เม.ย.นี้ เพื่อลดปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดมาก พร้อมประเมินหากผลผลิตมากจะเร่งระบายผ่านห้างเล็กใหญ่ทั่วประเทศ ยอมรับมะนาวแพงเป็นช่วงสั้นๆ แนะซื้อมะนาวผงแทน ขณะที่พืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดอื่น ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ราคาดีทุกรายการจะส่งผลดีกับเกษตรกร
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า กรมการค้าภายในได้มีการติดตามสถานราคาสินค้าทั้งุปโภคและบริโภคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตผลไม้ไทยจะออกสู่ตลาดมาก โดยเตรียมความพร้อมทุกด้านเพื่อไม่ให้ราคาตกต่ำที่จะทำให้เกษตรกรชาวสวนได้รับผลกระทบมากจนเกินไป ซึ่งเตรียมแผนที่จะหาแนวทางระบายสินค้าผลไม้ที่สำคัญและมีแนวโน้นผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการ คือ การเชื่อมโยงตลาดผ่านห้างสรรพสินค้าทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ซึ่งกรมฯได้พูดคุยกับห้างไว้บ้างแล้วจะขอพื้นที่บางส่วนให้เกษตรกรชาวสวนนำผลไม้มาวางขายตามห้างสรรพาสินค้าเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนมีพื้นที่ระบายสินค้าผลไม้ตามห้างต่างๆ ด้วย
นอกจากนี้ ในเบื้องต้นกรมฯ จะนำพันธมิตรร้านค้า เกษตรกรชาวสวนที่นำผลไม้แปรรูป เช่น มะม่วง มะพร้าว ไอศครีมและอื่นๆที่เน้นเป็นน้ำผลไม้ไปเข้าร่วมกิจกรรมมหาสงกรานต์ที่บริเวณท้องสนามหลวงและที่ถนนราชดำเนินกลางเพื่อจำหน่ายน้ำผลไม้ราคาไม่แพงให้กับประชาชนที่เดินทางมาเล่นสงกรานต์ภายในบริเวณดังกล่าวอีกด้วย และไม่เพียงในทเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น กิจกรรมนี้จะยังไปในจังหวัดท่องเที่ยวที่ร่วมจัดงานมหาสงกรานต์ทั่วประเทศในปีนี้ด้วยเช่นกัน
อย่างรก็ตาม จากสภาพอากาสที่ร้อนขึ้น กรมการค้าภายในได้ติดตามราคาสินค้าอาหารสด โดยส่วนใหญ่ปรับขึ้นลงตามกลไกตลาดบ้าง แต่ช่วงหน้าร้อนนี้ฝนทิ้งช่วง ทำให้ราคาพืชผักบางชนิด เริ่มขยับตัวขึ้นบ้าง เช่น มะนาวจากผลผลิตที่ลดลง ดังนั้น กรมการค้าภายในมองว่าจะเป็นราคาขึ้นช่วงสั้นๆ บางพื้นที่จะมีราคาแพงขึ้นบ้าง จึงอยากแนะนำผู้บริโภคเลือกเปลี่ยนมาใช้ “มะนาวผง” ทดแทนที่มีราคาไมีแพงมาก เก็บไว้ใช้ได้นานในช่วงที่ราคามะมาวผลมีราคาที่สูงขึ้น ปีนี้ผลผลิตมะนาวในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีปริมาณเพียงแค่ 42,000 ตันถือว่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีผลผลิตเฉลี่ยถึง 56,000 ตัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ลูกละ 4.60 บาทเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วเฉลี่ยลูกละ 3.71 บาท แต่กรมฯ มีแผนเร่งเชื่อมโยงตลาดโดยเฉพาะนำมะนาวผงจากโครงการหลวงนำไปจำหน่ายผ่านยรถโมมายธงฟ้า โดยคาดว่าราคามะนาวจะกลับมาเป็นปกติได้ในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน
“กรมการค้าภายในได้ดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยไปรวบรวมมะนาว มาไว้ส่วนหนึ่ง นำไปทำ “มะนาวผง” ร่วมกับ สวนจิตรลดา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่งมีจำหน่ายผ่าน ร้านธงฟ้า และรถโมบายธงฟ้า ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงอยากแนะนำให้ ร้านอาหารต่างๆ สามารถใช้เลือกใช้ มะนางผง ทดแทนได้ ซึ่งในตลาดมีหลายยี่ห้อให้เลือก หรือหากจะใช้น้ำมะนาวขวด ก็ควรจะเลือกจากแหล่งที่มาที่มีมาตรฐาน” วัฒนศักย์กล่าว
ขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรของไทยในปีนี้ถือว่าดีต่อเนื่อง ไม่เฉพาะ ยางพาราเท่านั้น แต่พืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดอื่น ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ราคาดีทุกรายการเช่นเดียวกัน โดยปีนี้ถือเป็นข่าวดีของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวราคายังดีต่อเนื่อง สำหรับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ยืนราคานี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว เฉลี่ยตันละ 14,850 บาท สูงสุดถึง 15,500 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ทรงตัวเฉลี่ย 14,600 บาท สูงสุดที่ 15,200 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี สูงขึ้นเล็กน้อย เฉลี่ยอยู่ที่ 14,800 บาทต่อตัน ขยับขึ้นมาจากสัปดาห์ก่อนที่ 14,470 บาทต่อตัน ข้าวเปลืกกเจ้า ทรงตัวเฉลี่ยที่ตันละ 12,600 บาทสูงสุดที่ 12,700 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเหนียว ที่ตันละ 13,300 บาท ถือว่าราคาข้าวทุกตัวอยู่ในเกณฑ์ดี และสูงกว่าปีที่แล้ว
ส่วนมันสำปะหลัง กิโลกรัมละ 3.48 บาท เป็นราคาที่ดีกว่าปีที่แล้วเช่นกัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทรงตัว ที่กิโลกรัมละ 9.50- 9.60 บาทถือเป็นราคาดีที่เกษตรกรพอใจ ขณะที่ราคาผลปาล์มน้ำมันเฉลี่ยที่ 5.70-5.80 ยังสูงต่อเนื่องสอดคล้องกับราคาน้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO 34.13 บาท ส่วนน้ำมันปาล์มบรรจุขวด เฉลี่ยขวดลิตรละ 45.19 บาทแต่ในห้างต่างๆ นำมาจัดโปรโมชั่น ในราคาขวดละ 43-45 บาท ซึ่งขณะนี้สตอกน้ำมันปาล์มดิบ อยู่ในเกณฑ์ที่บริหารจัดการได้ประมาณ 220,000 ตัน และผลผลิต กำลังทยอยออกสู่ตลาด ตั้งแต่เดือนนี้จนถึงเดือนพฤษภาคม
ส่วนราคายางพาราถือว่าปรับขึ้นเยอะ โดยราคายางแผ่นดิบ เฉลี่ย 85 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าปีที่แล้วมาก ที่เฉลี่ยเพียง 47.58 บาทและยังสูงกว่าเดือนที่แล้วที่ 70 บาท ราคาน้ำยางสดเฉลี่ยที่ 77.50 บาทต่อกิโลกรัม จากปีที่แล้วเฉลี่ยเพียง 48.25 บาท และยังมีแนวโน้มขยับขึ้นอีก จากมาตราการบริหารจัดการผลผลิตผลที่ดี
ขณะที่ ราคาเนื้อหมู ยังทรงตัวระดับเฉลี่ยกิโลกรัมละ 124-128 บาท ซึ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามรักษาระดับราคาไม่ให้ต่ำไปกว่านี้ เนื้อไก่ มีทั้งปรับเพิ่มขึ้นและลดลง ตามชิ้นส่วน โดยเนื้อน่องติดสะโพกเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 82.31 บาท ชิ้นส่วนน่องกิโลกรัมละ 81 บาท ชิ้นส่วนสะโพกกิโลกรัมละ 85 บาท และ เนื้อหน้าอกกิโลกรัมละ 76 บาท ส่วนไข่ไก่ ราคาย่อลงเล็กน้อย เบอร์ 3 เฉลี่ยฟองละ 3.76-3.79 บาท ขณะที่ ปลา ส่วนใหญ่ราคาทรงตัว โดยปลานิลกิโลกรัมละ 74.50-75.00 บาท ปลาดุกกิโลกรัมละ 75.80 บาท ปลาทับทิมราคาย่อลงเล็กน้อย อยู่ที่กิโลกรัมละ 104 บาท ปลากะพงเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 139 บาทเป็นต้น
ส่วนผักที่ราคาปรับลดลงเล็กน้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 33-34 บาทต่อกิโลกรัม ถั่วฝักยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 46 บาทต่อกิโลกรัม ผักบุ้งจีน 31.20 บาทต่อกิโลกรัม ผักชี เฉลี่ยกิโลกรัมละ 82.50 บาท โดยรวมถือว่าเป็นการปรับขึ้นลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาและขอย้ำกรมกาคค้าภายในมีการติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าทุกประเภทอย่างใกล้ชิด หากพื้นที่ใดเอารัดเอาเปรียบจำหน่ายสินค้าแพงเกินจริงหรือไม่ติดป้ายแสดงราคาสินค้าประชาชนสามารถร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 ได้ทันที.-514-สำนักข่าวไทย