กรุงเทพฯ 6 มี.ค. – คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดตัวโครงการ Chula Learn-Do-Share 2024 จับมือกับหลายภาคส่วนขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยนวัตกรรม พร้อมสนับสนุน การสร้างเสริมศักยภาพ SMEs เพิ่มทักษะด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ให้ผู้ประกอบการนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาประยุกต์ใช้
มูลนิธิอรุณ สรเทศน์ และสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน ภายใต้มูลนิธิอรุณ สรเทศน์ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดตัว “โครงการ Chula Learn-Do-Share 2024” ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพของ SMEs เพื่อมุ่งสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและเสริมสร้างความตระหนักให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการประยุกต์ใช้แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกให้แก่นิสิตและบุคลากร
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองประธานกรรมการมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ กล่าวว่า งานอรุณ สรเทศน์ รำลึก ที่จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์สู่สังคม รวมถึงโครงการ Chula Learn-Do-Share 2024 ที่ได้เปิดตัวในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่สังคมความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งผลิตผล งานวิจัยทางวิชาการ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งเสริมสร้างการทำงานร่วมกันข้ามศาสตร์ ข้ามสาขา และเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน ตลอดจนพัฒนานิสิตและบุคลากรที่จะไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในองค์กรต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน
กิจกรรมสำคัญคือ การประกาศความร่วมมือการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยนวัตกรรม ระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ โดยผู้แทนของกฟผ. ประกอบด้วย นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนายเมธาวัจน์ พงศ์รดาภิรมย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ รักษาการ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยนายวฤตกล่าวว่า ปัจจุบันทิศทางของโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้พลังงานหมุนเวียนถูกนำมาเป็นทางเลือกในเรื่องการใช้พลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจมากขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดการลดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก ตามที่ทิศทางโลกได้กำหนดกติกาใหม่ในด้านความยั่งยืน
สำหรับประเทศไทย นโยบายของภาครัฐก็มีการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน อาทิ การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการลดการปล่อย CO2 เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยี Clean Energy จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการปรับเปลี่ยนภาคขนส่งด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ช่วยลดฝุ่นละออง PM 2.5 และการสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) ทั้งในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และครัวเรือน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ สนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)การปรับตัวของภาคพลังงาน
กฟผ. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเป้าหมายของประเทศไทยที่มุ่งไปสู่พลังงานสะอาด โดยได้ตั้งเป้าหมายของ กฟผ. ในการมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ.2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยกฟผ. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ และพัฒนาประสิทธิภาพพลังงาน รวมทั้งการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (EV Ecosystem) การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานแบบครบวงจร (Smart Energy Solutions) รวมถึงเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการลดคาร์บอน เช่น Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน และ Hydrogen เป็นต้น
การพัฒนากลไก Renewable Energy Certificate (REC) ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถอ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และใช้รายงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรายงานความยั่งยืน และรายงานตามมาตรฐานระดับสากลต่าง ๆ เช่น RE100 เป็นต้น อีกทั้ง REC ยังเป็นกลไกที่สำคัญในการสนับสนุนนโยบาย Utility Green Tariff (UGT) ของภาครัฐ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสีเขียว และยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายสีเขียวที่ตั้งไว้ ซึ่ง กฟผ. อยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการข้อมูลสนับสนุนการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเก็บข้อมูลการรายงานด้านความยั่งยืน นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อแบบประเมิน ESG ตามมาตรฐานสากล เช่น ESBN Questionnaire ของ the United Nations (UN) อีกด้วย โดยปัจจุบัน กฟผ. พัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ชั้นนำทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล เพื่อส่งเสริมให้เกิด Ecosystem ที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์การทุกระดับสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน ระบุว่า การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสริมสร้างกลุ่มคนที่มีทักษะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Green talent) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนธุรกิจ SMEs ที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งการจะขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจให้รองรับกับการเปลี่ยนผ่านสู่การสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้นั้น องค์ประกอบที่สำคัญ คือ บุคลากรในธุรกิจนั้นจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจให้เท่าทัน และพัฒนาศักยภาพให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง อันเป็นที่มาของโครงการ Chula Learn-Do-Share ในครั้งนี้ . 512 – สำนักข่าวไทย