นนทบุรี 5 มี.ค.-อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าย้ำดีเอสไอ ประสานทุกส่วนงานเตรียมแผนลงตรวจสอบเชิงลึกกลุ่มธุรกิจคนต่างด้าวในไทยหลายกิจการเข้าข่ายทำธุรกิจแอบแฝงผิดตามกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวปี 42 มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว ภูเก็ต เชียงใหม่ ชี้แม้กระทั่งนายเดวิดที่มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงเตะหมอไทย ระบุหากพบผิดกฎหมายมีโทษทั้งจำคุกและโทษปรับ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าวถึงกรณีที่นายเดวิด อายุ 45 ปี นักธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ เจ้าของปางช้างใน ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เตะเข้ากลางหลังของ พญ.ธารดาว จันทร์ดำ หรือหมอปลายนั้น โดยเรื่องนี้กรมฯได้รับการประสานจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ มาแล้ว เตรียมจะลงพื้นที่พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นผลจากการ MOU ร่วมกันของ 6 หน่วยงาน มีทั้ง กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดีเอสไอ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการร่วม “ศปต.”
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ตรวจสอบ กรณีนายเดวิด ดำเนินธุรกิจจดทะเบียนในชื่อ บริษัท อีเลเฟนท์ แซงชัวรี่ พาร์ค ภูเก็ต จำกัด เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 มีกรรมการ บริษัท 3 คน โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจเลี้ยงช้างเพื่อเปิดให้เข้าชม และจำหน่ายอาหารช้าง มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 3 คน เป็นสัญชาติไทย 2 คน ถือหุ้นสัดส่วน 51% จำนวน 20,400 หุ้น โดยไม่ขัดต่อ พรบ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพราะต่างด้าวถือหุ้นไม่เกิน 49% ที่กฎหมายอนุญาต
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบจะอยู่ภายใต้กฎหมายที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำกับดูแล ทั้งในเรื่องของ การถือหุ้นของคนต่างด้าวว่าเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตไว้หรือไม่ ผู้ถือหุ้นทั้งคนไทยและต่างด้าวมีสัดส่วนอย่างไร และที่มาของเงินลงทุน ขณะที่ อีก 5 หน่วยงานที่ทำงานร่วมกัน ก็จะตรวจสอบ ภายใต้กฎหมายที่กำกับดูแลเช่นกัน โดยล่าสุด ศูนย์ปฏิบัติการร่วม “ศปต.” มีแผนการกำกับดูแล ชาวต่างชาติ ที่เข้ามาประกอบธุรกิจ โดยใช้คนไทยเป็น ตัวแทนอำพราง (NOMINEE) หรือ นอมินี อยู่แล้ว โดยปีนี้ มีเป้าหมายตรวจสอบนิติบุคคล ประมาณ 26,019 ราย และตรวจสอบแล้ว เห็นว่า ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบเชิงลึก ประมาณ 419 ราย ส่วนใหญ่อยู่ใเป้าหมายนพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และกรุงเทพฯ ในพื้นที่สำเพ็ง เยาวราช และคลองถม ซึ่งในจำนวนนี้มีการเรียกเอกสารหลักฐานแล้ว 313 ราย อยู่ในจังหวัดภูเก็ต 59 ราย ถือเป็นแผนในปีนี้ ที่จะดำเนินการร่วมกันทั้ง 6 หน่วยงานอยู่แล้ว
สำหรับ บทลงโทษของ คนต่างด้าว ที่ประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยง หรือ ฝ่าฝืน พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มาตรา 36 กำหนดไว้ มีโทษจำคุก เกิน 3 ปี หรือ ปรับ ตั้งแต่ 100,000 บาท – 1,000,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และหากยังฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล มีโทษ วันละ 10,000 ถึง 50,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่อีกด้วย.-514-สำนักข่าวไทย