กรุงเทพฯ 29 ก.พ. -ธ.ก.ส. เติมทุน 2,000 ล้านบาท ดูแล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ปี 66/67 เติมทุนให้สถาบันเกษตรกร รับซื้อผลผลิต วงเงินรวม 1,500 ล้านบาท
นายสุนัน พงศ์ประยูร ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ปีการผลิต 66/67 วงเงิน 2,190 ล้านบาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรในการรับซื้อ รวบรวมและแปรรูปผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ประกอบด้วย 1. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปี 2565/66 วงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันเกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อ รวบรวมหรือแปรรูปข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร
ผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งการรับซื้อ รวบรวม แปรรูป หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ วงเงินแบ่งตามประเภทลูกค้า ได้แก่ 1) สหกรณ์การเกษตร วงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาท 2) กลุ่มเกษตรกร วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท และ 3) วิสาหกิจชุมชน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.50 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี และส่วนที่เหลือรัฐบาลรับหน้าที่ชดเชยให้ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน แจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 พฤษภาคม 2567
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 วงเงินรวม 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กับสถาบันเกษตรกรในการรับซื้อหรือรวบรวมผลผลิตมันสำปะหลัง จากเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นชุมนุมสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลัง ทั้งการรับซื้อ รวบรวม แปรรูป หรือใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในการสร้างผลิตภัณฑ์ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.50 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับหน้าที่ชดเชยให้ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน
แจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 มิถุนายน 2567 และ 3. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 วงเงินรวม 690 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง วงเงินรายละไม่เกิน 230,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-3 ต่อปี (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) โดยรัฐบาลรับหน้าที่ชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 24 เดือน โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยมีสิทธิ์ในการยื่นขอสินเชื่อได้ แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 กันยายน 2567
คาดว่า 3 โครงการดังกล่าว จะช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกมาจำนวนมากและราคาตกต่ำ อันเป็นการสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรได้ทำหน้าที่เป็นกลไกในการสร้างเสถียรภาพด้านราคา และเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาด รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตและช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อยอีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 .-515-สำนักข่าวไทย