กรุงเทพฯ 20 ก.พ.-ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของบริษัทจดทะเบียนทั้งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งยกระดับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อดูแลผู้ลงทุนให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน และมีเครื่องหมายเพื่อเตือนผู้ลงทุนที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนได้ปรับปรุงการพิจารณาคุณสมบัติ Backdoor Listing และ Resume Trading ให้เทียบเท่า New Listing เริ่มทยอยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างต่อเนื่องในการศึกษา ทบทวน และปรับปรุงเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงเกณฑ์เพื่อยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การเข้าจดทะเบียน การดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนการเพิกถอน เพื่อเพิ่มคุณภาพบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลและการเตือนผู้ลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพให้ตลาดทุนไทย หลังจากการปรับปรุงการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลมากขึ้น ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
โดยครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงเกณฑ์ 4 เรื่อง สำคัญดังนี้
1. ปรับปรุงคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้ง SET และ mai โดยเพิ่มมูลค่ากำไรและส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทั้งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน ซึ่งจะมีผลใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อให้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนและผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่ได้ โดยเกณฑ์ใหม่ พิจารณาจากปัจจัยสถานการณ์ปัจจุบัน ขนาดและฐานะการเงินของบริษัทในประเทศไทย การเทียบเคียงและการแข่งขันกับตลาดในภูมิภาค และการมีตลาดรองรับที่ครอบคลุมการระดมทุนของบริษัททุกขนาดทั้ง SET , mai และ LiVEx
โดยเกณฑ์ใหม่ของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน SET มีดังนี้
-กำไร(Profit) ปีล่าสุด จากเดิม 30 ล้านบาท เพิ่มเป็น 75 ล้านบาท
รวม 2-3 ปี จากเดิม 50 ล้านบาท เพิ่มเป็น 125 ล้านบาท
-ฐานะการเงิน(Equity) จากเดิม 300 ล้านบาท เพิ่มเป็น 800 ล้านบาท
-ทุนชำระแล้ว (Paid-up) จากเดิม 300 ล้านบาท ลดลงเหลือ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนบริษัทที่มีทุนชำระแล้วน้อย แต่มีฐานะทางการเงินดี
-เพิ่มสัดส่วน Free Float และเปอร์เซนต์หุ้นที่เสนอขาย IPO กับบริษัทที่มี Paid-up มากกว่าเท่ากับ 50-300 ล้านบาท จากเดิม 25% เพิ่มเป็น 30% และ จากเดิม 15% เป็น 20%
ส่วนเกณฑ์ใหม่ของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน mai มีดังนี้
-กำไร(Profit) ปีล่าสุด จากเดิม 10 ล้านบาท เพิ่มเป็น 25 ล้านบาท
รวม 2-3 ปี จากเดิมไม่กำหนด เพิ่มเป็น 40 ล้านบาท
-ฐานะการเงิน(Equity) คงเดิมที่ 50 ล้านบาท
-ทุนชำระแล้ว (Paid-up) คงเดิมที่ 50 ล้านบาท
-เพิ่มสัดส่วน Free Float และเปอร์เซนต์หุ้นที่เสนอขาย IPO กับบริษัทที่มี Paid-up มากกว่าเท่ากับ 50-300 ล้านบาท จากเดิม 25% เพิ่มเป็น 30% และ จากเดิม 15% เป็น 20%
2. ยกระดับการเตือนผู้ลงทุน เริ่มบังคับใช้ 25 มีนาคม 2567 โดยเพิ่มเหตุที่จะเตือนผู้ลงทุนด้วยเครื่องหมาย ดังนี้
2.1 กรณีบริษัทจดทะเบียนมีความเสี่ยงด้านฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน สภาพคล่องทางการเงิน ทั้งกรณีไม่มีธุรกิจ มีขาดทุนต่อเนื่อง หรือผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินหรือตราสารหนี้
2.2 กรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน
2.3 กรณีบริษัทจดทะเบียนมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ เป็น Cash Company มีคณะกรรมการตรวจสอบหรือ Free Float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ หรือไม่จัด Opportunity Day ตามที่กำหนด
โดยการเตือนผู้ลงทุนจะแสดงด้วยเครื่องหมายที่แตกต่างกันตามแต่ละเหตุ ซึ่งเครื่องหมายใหม่นี้จะทดแทนเครื่องหมาย C (Caution) ในปัจจุบันด้วย
3. เพิ่มเหตุเพิกถอนกรณีบริษัทจดทะเบียนไม่มีธุรกิจต่อเนื่องหลายปี หรือไม่สามารถแก้ไข Free Float ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพเหมาะสมที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียน
4. เพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณาคุณสมบัติบริษัทที่เข้าจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และกรณีย้ายกลับมาซื้อขายหลังแก้ไขเหตุอาจถูกเพิกถอน (Resume Trading) ให้เทียบเท่ากับการเข้าจดทะเบียนใหม่ (New Listing) เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว โดยผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเกณฑ์ที่มีการปรับปรุงได้ที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ www.set.or.th ภายใต้หัวข้อ “กฎเกณฑ์/การกำกับ” และ “กฎเกณฑ์ – หนังสือเวียนส่วนที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์จดทะเบียน”.-571-สำนักข่าวไทย