กรุงเทพฯ 24 ม.ค.-เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ 35.88 ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับ 35.81-35.83 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (10.30 น.) เป็นทิศทางที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 35.69 บาทต่อดอลลาร์ฯ
น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ เงินบาทอ่อนค่าลงตามเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนต่อเนื่องท่ามกลางการปรับเปลี่ยนมุมมองของตลาดมาประเมินว่า เฟดอาจจะยังไม่ส่งสัญญาณรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเร็วนัก นอกจากนี้ ตลาดยังคงรอติดตามมุมมองต่อสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 35.60-35.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางของเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนม.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ และผลการประชุมธนาคารกลางแคนาดา
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท ประเมินว่า อาจเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หลังตลาดทุนไทยเผชิญแรงเทขายสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจไม่ได้ขยายตัวได้ตามที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ หากคาดการณ์ของทางกระทรวงการคลังนั้นถูกต้อง (ที่มองว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง +1.8% ในปี 2023)
นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในช่วงนี้ ก็ยังไม่ได้สดใสมากนัก ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังเป็นฝั่งขายสุทธิหุ้นไทยได้ อย่างไรก็ดี ควรจับตารายงานดัชนี PMI ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ และยูโรโซนกับอังกฤษ
“หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ในเชิง Valuation เงินบาทแถว 36 บาทต่อดอลลาร์ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ Undervalued พอสมควรจากการประเมินโดยใช้ดัชนีค่าเงินบาท REER แนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency)”นายพูนกล่าว.-511-สำนักข่าวไทย