กรุงเทพฯ 19 ม.ค.-SET เปิดแผนกลยุทธ์ปี 67-69 ยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุนไทยที่ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน มุ่งสู่ความยั่งยืน
ตลท. ก้าวสู่ปีที่ 50 กำหนดแผนกลยุทธ์ 3 ปี (2567-2569) มุ่งสร้างตลาดทุนไทยที่มีคุณภาพสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน พัฒนาระบบและนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการป้องปรามการกระทำผิด ปกป้องผู้ลงทุน รวมทั้งติดตามคุณภาพบริษัทจดทะเบียน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยและสนับสนุนบริษัทที่มีศักยภาพเข้ามาจดทะเบียน ดึงดูดผู้ลงทุนผ่าน In-bound / Out-bound roadshow พร้อมทั้งสนับสนุน SMEs / Startups ผ่าน LiVE Platform พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานระดับโลกเพื่อเป็น Platform ในการขยายธุรกิจของผู้ร่วมตลาด ตลอดจนสนับสนุนการขับเคลื่อนวาระสำคัญของตลาดทุนไทยและประเทศสู่ความยั่งยืน มุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายในปี 2050
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ท่ามกลางความท้าทายและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน โดยเฉพาะการกำกับดูแลให้ตลาดทุนมีความโปร่งใสและเป็นธรรม (Market Integrity) ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยเพิ่มการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มเข้าจดทะเบียน การดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ไปจนถึงการเพิกถอน โดยทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุน พร้อมเสริมศักยภาพการแข่งขัน สร้างความน่าสนใจในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งการระดมทุนและการลงทุน สร้างโอกาสแก่ผู้ร่วมตลาดทุน รวมทั้งขับเคลื่อนความยั่งยืนเพื่อเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ พร้อมก้าวสู่ปีที่ 50 พัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนภายใต้วิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ผ่านแผนกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2567-2569 “สร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพ สู่การเติบโตอย่างยั่นยืน” (Delivering Market Quality x Growth) ใน 3 ด้านหลัก 1) ยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน 2) เสริมศักยภาพการแข่งขัน 3) สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ดังนี้
1.ยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน
1.1 เสริมสร้างคุณภาพและเครื่องมือในการปกป้องผู้ลงทุน โดยพัฒนาเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์และติดตามคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการจัดทำระบบ Financial Data Health Check และ Surveillance Prevention and Analytics (SPA) รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตร เช่น สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียน และนำมาใช้ประมวลผลได้อย่างรวดเร็วขึ้น
1.2 ปกป้องและสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน โดยการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจจับข่าวปลอมหลอกลงทุนที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อเตือนผู้ลงทุนผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และรายงานไปยัง Anti-Fake News Center ในการดำเนินการเตือนสาธารณชนต่อไป นอกจากนี้ จะพัฒนาระบบที่จะแจ้งไปยังผู้ประกอบการสื่อโซเชียลในการนำข่าวปลอมออกและปิดเพจปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่มากขึ้น คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567
2.เสริมศักยภาพการแข่งขัน
2.1 เพิ่มความน่าสนใจดึงดูดการลงทุน
• Supply side สนับสนุนบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Target industries) เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ผ่านการทำงานร่วมกับพันธมิตร พร้อมนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทั้งบริษัทที่จะระดมทุนและบริษัทจดทะเบียน เช่น One Report และ Digital IPO System และสนับสนุนการทำงานของบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนา LiVE Platform ให้ผู้ประกอบการ SMEs / Startups สามารถเข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย และเข้าใช้งานง่าย นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มความน่าสนใจของบริษัทจดทะเบียนเพื่อดึงดูดผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศผ่านการทำ In-bound / Out-bound roadshow
• Demand side เพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนแต่ละกลุ่ม (More Choice) โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะของผู้ลงทุนรุ่นใหม่ เช่น Small Size Thai Share รวมถึงสภาวะตลาดเพื่อประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยง เช่น Inverse ETF เตรียมพร้อมขยายระยะเวลาการซื้อขายหลักทรัพย์ ปรับปรุงการพัฒนาดัชนีใหม่ ๆ การทำให้การเข้าถึงตลาดทุนเป็นเรื่องง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น (More Streamline) ทั้งการเปิดบัญชีซื้อขายที่สะดวกรวดเร็ว และพัฒนาช่องทางที่เข้าถึงการลงทุนที่ง่ายขึ้นและรองรับการซื้อขายสินทรัพย์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ จะมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนและประชาชนในวงกว้างผ่านโครงการต่างๆ พร้อมให้ความรู้เชิงลึกเพื่อเพิ่มทักษะแก่ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน
2.2 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุน
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามมาตรฐานโลก เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของผู้ร่วมตลาด ขยายความร่วมมือในรูปแบบพันธมิตรทั้ง IT Service และ Data Solution
3.สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน
• ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) มุ่งให้ความรู้แก่บริษัทจดทะเบียนผ่านโครงการ SET ESG Academy และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ESG ผ่านโครงการ Climate Care Collaboration Platform และ SET Carbon ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจาก ESG Data Platform นอกจากนี้ จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกในการยกระดับ SET ESG Assessment สู่มาตรฐานระดับโลก
• ด้านสังคม (Social) มุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการที่เป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) และธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยเชื่อมโยงธุรกิจครอบครัวสู่ LiVE Platform ให้มากขึ้น รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ด้านการลงทุนให้กับกลุ่ม Multi-jobber & Freelance
• ด้านบรรษัทภิบาล (Governance) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุนและการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และสนับสนุนให้มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดทุน
ขณะเดียวกัน กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการด้าน ESG ภายในองค์กรอย่างเข้มข้น เช่น การต่อยอดโครงการ SET’s Journey Towards Net Zero เพื่อมุ่งสู่การเป็น Net Zero Organization การพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (Culture transformation) พร้อมกับการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ (Risk management & Enhancing governance)
สรุปพัฒนาการสำคัญตามแผนงานปี 2566
1) สร้างโอกาสการระดมทุนและลงทุน
• หุ้น IPO มีมูลค่าระดมทุน 38,260 ล้านบาท สูงสุดอันดับ 7 ในเอเชีย โดยมี 12 บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น New Economy
• ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 โดยในปี 2566 มีมูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ย 53,331 ล้านบาทต่อวัน
• TFEX มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 534,898 สัญญา
• เพิ่ม 11 สินค้าที่อ้างอิงหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ฮ่องกง ยุโรป อเมริกา (รวม 23 หลักทรัพย์) SMEs / Startups กว่า 3,000 รายเข้าร่วม LiVE Platform และมี 4 บริษัทจดทะเบียนใน LiVEx
• ผลักดันจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG Fund) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
2) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและรักษาความน่าเชื่อถือตลาดทุน
• SET CONNECT เปลี่ยนระบบซื้อขายใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีล่าสุดที่เป็นมาตรฐานสากล มีประสิทธิภาพสูง
• TDX เปิดซื้อขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน เรียลเอ็กซ์ (RealX) เป็นสินค้าแรก
• สนับสนุนการเปิดเผยและเชื่อมโยงข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนผ่าน ESG Data Platform โดยมี 658 บริษัทเข้าร่วม (74% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด)
• ยกระดับกระบวนการกำกับดูแลทั้ง 5 ขั้นตอน
- Listing: เพิ่มคุณสมบัติบริษัทเข้าจดทะเบียน
- Ongoing Obligations: เพิ่มการกำกับดูแล บจ. ที่มีปัญหาด้านผลการดำเนินงาน โดยเพิ่มเหตุ C-sign
- Trade Surveillance: เพิ่มระบบตรวจจับการซื้อขายที่ผิดปกติ และศึกษาแนวทางการจัดตั้ง “Securities Bureau”
- Delisting: เพิ่มเหตุในการถูกเพิกถอน
- Escalation to Public: ให้ บจ. เปิดเผยข้อมูลเพิ่มกรณีมีเหตุสงสัย และตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ข้อมูลกรณีการซื้อขายร้อนแรง รวมทั้งเปิดเผยข้อมูล Program trading
3) พัฒนาตลาดทุนเพื่อสังคมและประเทศ
• 28 บริษัทจดทะเบียนอยู่ในดัชนี DJSI มากที่สุดในอาเซียน
• จัดทำ “คู่มือการใช้สัญญามาตรฐานสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต” แก่บริษัทจดทะเบียนและสร้าง ESG partners ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
• ประกาศเป้าหมาย Net-Zero Commitment ในปี 2050 และเข้าร่วมการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD)
• ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเงิน / การลงทุนแก่คนไทยและธุรกิจ ผ่านโครงการ Happy Money, รู้สู้หนี้, LiVE Platform และ Family Business
• ร่วมมือกับพันธมิตร องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ จับปลอมหลอกลงทุน”
• เสริมสร้างกิจการเพื่อสังคม โดยมี 51 business co-creation ระหว่างพันธมิตรภาคธุรกิจและ Social Enterprise.-516.-สำนักข่าวไทย