กรุงเทพฯ 2 ธ.ค. – “พฤกษา” เผย ปี 67 ตลาดอสังหาฯ ไทย ยังเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งอัตราดอกเบี้ย ราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น ค่าแรงที่อาจจะสูงขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจในภาพใหญ่
นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพใหญ่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ว่า ตลาดโดยรวมโตขึ้นเยอะ จากปีก่อนๆ ที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด โดยยอดขาย 9 เดือนแรกของทั้งตลาด โตขึ้นเยอะ แต่ผู้ประกอบการอาจจะมีกำไรน้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากการแข่งขันสูงขึ้น หลายเจ้าออกโครงการใหม่ แต่ก็ต้องรถราคาลง ซึ่งหมายความว่ากำลังซื้อในตลาดยังมีอยู่ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ทั้งอัตราดอกเบี้ย ราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น ค่าแรงที่อาจจะสูงขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจในภาพใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นข้อดีของผู้ซื้อที่มีโอกาสได้เลือกซื้ออสังหาฯโครงการใหม่ ๆ
ส่วนเทรนด์ปีหน้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีความท้าทายรอบด้านและค่อนข้างสูง ตลาดอาจจะมีความยากลำบาก จากภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งปีนี้มีผู้ประกอบการออกซัพพลายค่อนข้างเยอะ และหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหลายเจ้ากระโดดเข้ามาสู่บ้านราคาสูง แต่ในมุมกลับที่พฤกษามอง คือ กำลังซื้อของผู้ต้องการมีบ้านไม่ได้สูงมาก เพราะติดเรื่องรายได้ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่สูง ดังนั้นเราจึงมองเห็นโอกาส สร้างบ้านในราคาที่คนส่วนมากสามารถเข้าถึงได้ โดยได้เตรียมโปรดักส์ใหม่ที่หวังว่าจะตอบโจทย์ช่องว่างของตลาดได้ เช่นปีนี้ได้ออกโครงการใหม่ เป็นบ้านกรีนเฮาส์ ด้วยนวัตกรรมรูปแบบใหม่ มีสมาร์ทลีฟวิ่ง สมาร์ทโฮม สมาร์ทเอ็นเนอร์ยี่ มีพื้นที่จอดรถ รูปแบบบ้านเสมือนทาวน์เฮาส์ แต่ราคาไม่สูงมาก ซึ่งช่วยให้คนที่มีรายได้ขั้นต่ำที่มั่นคงสามารถเป็นเจ้าของได้ โดยผ่อนกับธนาคารไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน โดยปีนี้ได้ออกมาทดลองตลาด ได้รับการตอบรับที่ดีมาก เปิดจองเพียงสองวันก็มียอดจองถึง 75% ถือว่าเป็นโครงการทดลองที่ประสบความสำเร็จสูง ดังนั้นปีหน้าจึงคิดว่าจะเริ่มออกโครงการในรูปแบบเดียวกันเยอะขึ้น
ภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยที่ตลาดให้ความนิยมอยู่ที่ประมาณสามล้านบาทแต่หากเป็นบ้านเดี่ยวหรือคอนโดมิเนียมราคาก็จะสูงขึ้น ทั้งนี้ก็มีความแตกต่างไปตามแต่ละเซกเมนต์ และขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งด้วย อยากให้รัฐออกมาตรการกระตุ้นตลาด อย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดันไม่ว่าจะเป็นเรื่องลดค่าครองชีพเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ
“อย่างไรก็ดี อยากให้รัฐบาลนำมาตรการที่หมดอายุไปแล้ว กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อส่งเสริมการเติบโตของตลาดอสังหาฯ เช่น มาตรการเรื่องภาษีอากร ค่าโอนกรรมสิทธิ์ และแม้ว่าการที่ธนาคารเข้มงวดการปล่อยกู้จะส่งผลต่อกำลังซื้อ แต่ตนมองว่า เป็นผลถึงความแข็งแรงของอุตสาหกรรมระยะยาว ดังนั้นจึงแนะให้ผู้ประกอบการปรับตัวใช้นวัตกรรมสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์ในเงื่อนไขของตลาดที่มีการแข่งขันจะดีกว่า” นายอุเทนกล่าว .-517- สำนักข่าวไทย