ทำเนียบฯ 7 พ.ย.-ครม. หนุนราคามันสำปะหลัง ปี 66/67 ผ่าน 4 โครงการ กว่า 370 ล้านบาท หวังดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด 6 ล้านตันหัวมันสด
น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (7 พ.ย.2566) มีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง(นบมส.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อมันสำปะหลัง ไม่ให้เร่งระบายผลผลิต ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ผ่านมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี2566/67 ของกรมการค้าภายใน จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 310 ล้านบาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง 300 ล้านบาท ผ่านงบประมาณกลางปี
โครงการฯ ดังกล่าว สนับสนุนดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการลานมัน โรงแป้ง โรงงานเอทานอลที่กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้สามารถรับซื้อมันสำปะหลังและแปรรูปเก็บสต็อกโดยไม่ต้องเร่งระบายผลผลิต โดยผู้ประกอบการเก็บสต็อกในรูปแบบมันเส้นหรือแป้งมัน เป็นระยะเวลา 60 – 120 วัน เพื่อดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด เป้าหมาย 6 ล้านตันหัวมันสด โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตราร้อยละ4 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อก และมีระยะเวลารับซื้อ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2567 ระยะเวลาเก็บสต็อก ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 พฤศจิกายน 2567 ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 – 31 ตุลาคม 2568
รวมทั้ง โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมันฯ) วงเงินรวมทั้งสิ้น 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มเกษตรกร จัดหาเครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์สำหรับตากมันเส้น เครื่องละไม่เกิน 15,000 บาท เป้าหมาย เครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็ก 650 เครื่อง ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ครม.อนุมัติ (7 พ.ย.2566) – 30 กันยายน 2567
สำหรับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2566/67 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 60.65 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 (รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3.85 สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1) ใช้งบประมาณ 19.25 ล้านบาท เพื่อช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตมันสำปะหลัง เป้าหมายวงเงินกู้ 500 ล้านบาท ผลผลิตประมาณ 200,000 ตัน ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566 – 31 กรกฎาคม 2568
ธ.ก.ส. ยังมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 โดยใช้อัตราดอกเบี้ยตามโครงการฯในอัตรา MRR (ปัจจุบัน 6.975%) โดยคงอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลรับภาระร้อยละ 3 และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯรับภาระในอัตรา MRR – 3% วงเงินงบประมาณ 41.4 ล้านบาท หนุนใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง เป้าหมาย เกษตรกร 3,000 ราย รายละไม่เกิน 230,000 บาท วงเงินกู้รวม 690 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.มีมติ (7 พ.ย.2566) – 31 ตุลาคม 2569 .-สำนักข่าวไทย