ระยอง 1 พ.ย.- EXIM BANK เดินหน้า รุกตลาดโลกสีเขียว ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ มุ่งปล่อยกู้ Green Portfolio 50% ภายในปี 2571
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า กระแสโลกยุคปัจจุบัน มุ่งเน้นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในปี 2567 EXIM BANK มีแผนเดินหน้าพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ อีกหลายมิติ อาทิ สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย คำนึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี (ESG) จึงมุ่งระดมทุนนำมาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ(Blue Bond) เช่น พาณิชยนาวีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนธุรกิจสีเขียวครอบคลุม เพื่อบรรลุเป้าหมายEXIM BANK เตรียมเพิ่มสัดส่วน Green Portfolio และที่เกี่ยวเนื่อง จากร้อยละ 37 เพิ่มเป็นร้อยละ 50 ภายในปี2571 เพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจและธุรกิจไทยไปสู่ความยั่งยืน
นับตั้งแต่เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2537 EXIM BANK ได้ทำหน้าที่ Lead Bank นำพาผู้ประกอบการไทยไปปักหมุดธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ จำนวนกว่า 400 โครงการ กำลังการผลิตกว่า 8,800 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 100 ล้านตัน โดยเป็นการสนับสนุนทางการเงินกว่า 68,600 ล้านบาท สร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 578,300 ล้านบาท รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนธุรกิจไทย รวมทั้ง SMEs ให้ปรับตัวเป็นธุรกิจสีเขียว แข่งขันได้อย่างยั่งยืนในเวทีการค้าโลก
ทั้งนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 มูลค่าส่งออกทั้งปี 2566 คาดว่าจะหดตัว 1-2% มองว่าในไตรมาส 4 ปี 2566 ช่วงโค้งสุดท้ายของปี เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวก โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัว EXIM BANK ยังคงเดินหน้าส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง หลังจากผลการดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2566 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้าง 164,976 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,161 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 3.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภายใต้บทบาทการเป็น Green Development Bank การสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มียอดคงค้างสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 60,298 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37.36 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผู้ประกอบการ SMEs 14,122 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ23.42 จากสินเชื่อของ EXIM BANK ที่ให้การสนับสนุนธุรกิจสีเขียว โดยตั้งเป้าหมายจะขยายเป็นร้อยละ 50 นอีก 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและสถานการณ์ความไม่สงบในหลายประเทศ EXIM BANK ยังเร่งเสริมสร้างความมั่นใจและภูมิคุ้มกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยผ่านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 ปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ148,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.53 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของการสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งด้านสินเชื่อและประกันของ EXIM BANK ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีจำนวนลูกค้า 6,138 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน Penetration Rate ต่อผู้ส่งออกทั้งประเทศ 18% ในจำนวนนี้ มีลูกค้าSMEs มากถึงกว่าร้อยละ 83 สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของธนาคารที่ไม่ทิ้งคนตัวเล็กและกลุ่มเปราะบางทางสังคม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 27,800 รายวงเงินรวมประมาณ 91,400 บาท
EXIM BANK ยังมุ่งบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินและบริหารค่าใช้จ่าย ทำให้มีกำไรก่อนสำรอง 2,396 ล้านบาทเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดร้อยละ 18.48 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและความเสี่ยงทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 EXIM BANK มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) จำนวน 6,665 ล้านบาท NPL ร้อยละ 4.04 EXIM BANK มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss : ECL) เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในอัตราส่วน (Coverage Ratio) เท่ากับร้อยละ 213.15 อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทำให้ ณสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2566 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 246 ล้านบาท และคงได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระดับ AAA (tha) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 และคงอันดับเครดิตสกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ เท่ากับประเทศไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 .-สำนักข่าวไทย