กรุงเทพฯ 2 ต.ค. – บสย.หนุน Soft Power จิวเวลรี่ ลำพูน ยกระดับ “หัตถกรรม” สู่ “หัตถอุตสาหกรรม”
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ลงพื้นที่จังหวัดลำพูน ตรวจเยี่ยมการดำเนินกิจการลูกค้า ที่ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ พบปะกับผู้บริหาร บริษัท เอฟ แอนด์ อาร์ จิวเวลรี่ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องประดับรายใหญ่ แบบ 0EM ให้กับแบรนด์ชั้นนำของโลก และแบรนด์ “De Lann” (เดอลาน) ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดลำพูน เยี่ยมชมไลน์การผลิต ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ
นายจักริน วังวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดเชียงใหม่ เสนอแนะและรับทราบแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเขตภาคเหนือ โอกาสธุรกิจ การสร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจ โดยเร่งยกระดับ Soft Power ไทยจาก “หัตถกรรม” สู่ “หัตถอุตสาหกรรม” โดยจ้างงานและพัฒนาฝีมือแรงงานในพื้นที่ ประธานสภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่เชื่อมั่นในศักยภาพฝีมือของช่างภาคเหนือ ซึ่งมีความโดดเด่นและมีทักษะด้านงานศิลปะ หัตถกรรม สามารถพัฒนาคุณภาพสินค้า รวมถึงยกระดับการออกแบบ การผลิต จนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
บริษัท เอฟ แอนด์ อาร์ จิวเวลรี่ นับเป็น 1 ใน 8 แสนราย ผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย. ให้การสนับสนุนค้ำประกันสินเชื่อ ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งทุน ได้ร่วมทุนกับบริษัท BIJOUX FIX S.A. ประเทศฝรั่งเศส (ปัจจุบันบริษัท CARMAFIX S.A.) ก่อตั้งโรงงานผลิตเครื่องประดับที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ซึ่งล่าสุดเมื่อปี 2565 บสย. สนับสนุนค้ำประกันสินเชื่อ ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs บัญชีเดียว บริษัทตั้งเป้ายกระดับองค์กร โดยนำ BCG โมเดล มาต่อยอดพัฒนาธุรกิจ มุ่งเน้นการลดปริมาณของเสียสู่ Zero Waste ลดขั้นตอน กระบวนการผลิต การออกแบบตามความต้องการของลูกค้า ในปี 2566 บริษัทได้ลงทุน Solar Cell นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในโรงงาน ลดค่าไฟฟ้า และช่วยประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้าของกิจการ .-สำนักข่าวไทย