อินโดนีเซีย 30 ก.ย. – ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี พัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ชำระเงินเพื่อการซื้อขายสินค้าผ่านคิวอาร์โค้ด
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) กล่าวว่า ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT ณ เมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในระหว่างวันที่ 28 – 29 กันยายน 2566 เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ เป็นแผนงานมูลค่ากว่า 2.10 ล้านล้านบาท ร่วมพัฒนาโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกะยูฮิตัม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) นอกจากนี้ ไทยจะมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ อาทิ โครงการก่อสร้าง Motor Way หาดใหญ่-สะเดา โครงการก่อสร้าง Land Bridge ชุมพร-ระนอง
โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง แผนงาน IMT-GT มีความก้าวหน้า ต่อยอดมาจากการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง เมื่อเดือนกันยายน 2565 MOU เพื่อกระจายรายได้สู่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ รวมถึงความร่วมมือด้านการเงินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยและอินโดนีเซีย ร่วมกันผลักดันให้เกิดการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านทาง QR Code เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถชำระเงินเพื่อการซื้อขายสินค้าและบริการได้โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงิน และได้แจ้งฝ่ายมาเลเซียเพื่อสนับสนุนความร่วมมือในลักษณะเดียวกัน
ในการนี้ ที่ประชุมได้ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันของประเทศสมาชิก IMT-GT ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงการผลักดันให้พื้นที่อนุภูมิภาค IMT-GT พัฒนาไปอย่างยั่งยืนบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของไทยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่สำคัญในอนุภูมิภาค IMT-GT ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะส่งผลให้ไทยมีบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์และมีความร่วมมือกับนานาชาติในลักษณะที่จะเกื้อหนุนต่อความก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน รวมไปถึงการสร้างผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับ Mr. Winfried F. Wicklein ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ร่วมผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เช่น ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond: SLB) ความร่วมมือทางการเงินเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ.-สำนักข่าวไทย