ttb ปรับจีดีพีปี 66 เหลือ 2.8% ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตอาจดึงหนี้สาธารณะทะลุ 65%

นครราชสีมา 15 ก.ย. – ttb analytics ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงเหลือ 2.8% หลังโมเมนตัมโลกแผ่วกว่าคาด ส่วนนโยบายฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนอาจไม่เข้าเป้า ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตอาจดึงจีดีพีปี 67 ขึ้น 0.5% แต่หนี้สาธารณะอาจทะลุ 65%


นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เปิดเผยว่า ปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2566 ลงจาก 3.2% เป็น 2.8% และปี 2567 จาก 3.6% เป็น 3.2% ตามลำดับ หลังแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ต่างประเทศมีความเปราะบางขึ้น โดยเฉพาะโมเมนตัมส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอ่อนแอ เช่นเดียวกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่แผ่วลงกว่าคาด นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนที่อาจแผ่วกว่าที่คาด แรงกดดันด้านลบต่ออุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญต่อผลผลิตการเกษตร ตลอดจนความไม่แน่นอนด้านนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจหลังจัดตั้งรัฐบาล ล้วนเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป

สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยประเมินว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังจะขยายตัว 3.4%YoY นำโดยแรงสนับสนุนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทย คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และแรงกระตุ้นบางส่วนผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า (Free Visa) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยประมาณ 3 ล้านคน ไม่น่าจะถึง 5 ล้านคน ตามที่มีการตั้งเป้าไว้ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิดที่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยปีละ 11 ล้านคน เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่จะทยอยปรับดีขึ้นจากแรงส่งด้านราคาของสินค้ากลุ่มพลังงานและอาหาร รวมถึงผลของฐานต่ำในปีก่อนหน้า


อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) แรงส่งจากเศรษฐกิจจีนที่แผ่วกว่าที่คาด ตลอดจนปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจทำให้ภาคส่งออกฟื้นตัวได้ล่าช้าและไม่ทั่วถึง รวมถึงการฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยอาจน้อยกว่าที่ประเมินไว้ 2) แรงกดดันด้านลบต่ออุปสงค์ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากการฟื้นตัวของการจ้างงานในภาคการผลิตและท่องเที่ยวที่แผ่วลง ท่ามกลางภาระหนี้สูง และแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจกลับมาเร่งตัว 3) ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะเห็นสัญญาณชัดเจนในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งกระทบต่อผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ และ 4) ความไม่แน่นอนด้านนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจหลังการจัดตั้งรัฐบาล ที่อาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2567 ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวมอีกด้วย

ด้านเสถียรภาพทางการเงิน แม้อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาเร่งขึ้นในระยะต่อไป จากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มทยอยเพิ่มขึ้นตามการควบคุมกลไกด้านราคาในตลาดโลก สวนทางกับข้อจำกัดในการใช้นโยบายพยุงราคาพลังงานในประเทศ อีกทั้งแรงกดดันด้านราคาอาหารที่อาจกลับมาเร่งตัวอีกครั้งจากผลพวงของเอลนีโญ ttb analytics จึงประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 3 สู่ระดับสูงสุดของวัฏจักร (Terminal rate) ที่ 2.5% ก่อนจะคงที่ในระดับดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567 เป็นอย่างน้อย เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงเป็นบวก และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) รองรับกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศมีแนวโน้มเปราะบางขึ้น โดยในปี 2566 คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะมีแนวโน้มเกินดุลลดลงมาก หรืออยู่ที่ราว 0.1-0.6% ของจีดีพี จากการเกินดุลการค้าลดลงตามมูลค่าส่งออกสินค้าที่ลดลงเร็วกว่ามูลค่านำเข้า เช่นเดียวกับแรงกดดันจากดุลบริการตามรายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 จากทั้งในมิติของจำนวนและกำลังซื้อ รวมถึงการนำเงินออกไปลงทุนยังต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง เหล่านี้จะเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทไม่ให้กลับไปแข็งค่าเร็วเหมือนในอดีต


ส่วนค่าเงินบาทในระยะต่อไปมีแนวโน้มผันผวนสูงและอ่อนค่าได้ในระยะสั้น ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ จากจังหวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของประเทศเศรษฐกิจหลัก และภาวะการเงินโลกที่ยังคงตึงตัวต่อไป อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ความชัดเจนทางการเมือง รวมถึงแรงซื้อสุทธิที่จะกลับเข้ามาจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติในช่วงปลายปี โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.5-35.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2566

ttb analytics มองว่า แม้ว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเริ่มขยายตัวชะลอลงอย่างช้าๆ (Deleveraging) แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.6% ของจีดีพี ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากออสเตรเลียและเกาหลีใต้ ท่ามกลางรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่รายได้กลับทรงตัวในระดับต่ำยาวนาน ส่งผลให้ครัวเรือนจำเป็นต้องกู้ยืมเพิ่มเติม เพื่อรักษาระดับการบริโภค ทำให้หนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงของไทยกลายเป็นปัญหาเรื้อรังและกำลังบั่นทอนการบริโภคของภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ฉะนั้นแล้ว หากหนี้ครัวเรือนยังคงขยายตัวปีละ 3-4% เช่นนี้ต่อไป ก็อาจเป็นการยากที่จะปรับลดให้อยู่ในระดับเหมาะสมที่ไม่เกิน 80% ต่อจีดีพีได้

นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือนแล้ว บริบทหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดก็เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการคลังเช่นกัน โดยแม้หนี้สาธารณะคงค้างของไทยยังต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้สาธารณะ หรืออยู่ที่ 61.7% ต่อจีดีพี ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แต่การขาดดุลการคลังต่อเนื่องมาตลอดหลายสิบปี จากโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ที่ค่อนข้างต่ำ สวนทางกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ส่งผลให้รัฐจะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเป็นประจำราว 3-5% ของจีดีพี และดันให้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นปีละ 6-8% ซึ่งหากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง จะทำให้หนี้สาธารณะไทยเสี่ยงแตะกรอบเพดานหนี้ที่ 70% ต่อจีดีพี ภายในปี 2570 ซึ่งนั่นหมายความว่า ภาระการคลังจะเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีข้อจำกัดในการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ มากขึ้นในอนาคต

นายนริศ ยังกล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นนโยบายกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ซึ่งขณะนี้การบริโภคครัวเรือนค่อนข้างดี ไตรมาสที่ 2 ปีนี้โต 7.5% คาดทั้งปีโต 4.5% ฉะนั้นมีกลุ่มคนที่ใช้จ่ายอยู่แล้ว มีกำลังซื้ออยู่แล้ว จึงมองว่านโยบายดังกล่าวเหมาะกับคนที่มีปัญหาเรื่องรายได้ และกลุ่มเปราะบาง

“หากเป็นไปตามข่าวที่จะมีใช้งบฯ 5.6 แสนล้านบาท อาจทำให้ระดับหนี้สาธารณะไทย จาก 61% ของจีดีพี อาจทะลุ 65% ของจีดีพี จากนโยบายนี้นโยบายเดียว จึงต้องให้ความสำคัญกับกรอบวินัยทางการคลังพอสมควร ต้องดูว่านโยบายดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายมากน้อยเพียงใด ส่วนจะมีการใช้เต็มใช้ครบหรือไม่ ต้องรอดูเงื่อนไข หากใช้ได้ครบ ก็จะกระตุ้นได้ตามเม็ดเงินที่ลงไป ซึ่งจะทำให้จีดีพีไทยเพิ่มขึ้น 0.5% ส่งผลให้จีดีพีปี 2567 ปรับเพิ่มได้ถึง 3.7% แต่เฉพาะไตรมาสที่มีการจับจ่ายอาจจะโตถึง 4-5%” นายนริศ กล่าว. – สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ดับแล้ว 8 ราย รถชนบนมอเตอร์เวย์ อัดก๊อปปี้พังยับ

เกิดอุบัติเหตุใหญ่ช่วงกลางดึก บนมอเตอร์เวย์ สาย 7 มุ่งหน้าชลบุรี รถเทรลเลอร์ 2 คัน กับเอสยูวีอีก 1 คัน คนในรถเอสยูวี เสียชีวิต 8 ราย

ผู้เสียหายแจ้งความถูกร้านทองหลอกขายกรอบทองคำรูปสัตว์มงคล

ผู้เสียหายแจ้งความถูกร้านทองดังหลอกขายกรอบทองคำรูปสัตว์มงคล ราคารวม 1 ล้านบาท ผ่านมา 8 ปี เอะใจนำทองไปเผา สุดท้ายเป็นเพียงพลาสติก

ทวงหนี้โหด

มอบตัวแล้ว ผู้ต้องหาทวงหนี้โหดยิงดับต่อหน้าลูก

ยอมมอบตัวแล้ว ผู้ต้องหาทวงหนี้โหด บุกถึงห้องยิงดับต่อหน้าลูกชาย หนีจับแม่ค้าเป็นตัวประกัน ตำรวจพาแม่และญาติเกลี้ยกล่อมสำเร็จ ก่อนคุมตัวไปสอบสวนที่ สภ.เมืองนครปฐม

ข่าวแนะนำ

เสด็จเยือนภูฏาน

ในหลวง-พระราชินี ทรงพระดำเนินตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ในการเสด็จฯ เยือนภูฏานอย่างเป็นทางการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระดำเนินตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ในการเสด็จฯ เยือนภูฏานอย่างเป็นทางการ

ยกย่องมรดกไทย

ยูเนสโกยกย่อง 3 มรดกไทย เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกปี 2568

ยูเนสโกยกย่อง 3 มรดกไทย “สมุดไทยคำหลวง – พระเจ้าช้างเผือก – เอกสารอาเซียน” เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกปี 2568 ตอกย้ำบทบาทสำคัญของชาติไทยในประวัติศาสตร์โลก

อุตุฯ เตือนไทยตอนบน เฝ้าระวังพายุฤดูร้อน-ภาคใต้ฝนตกหนัก

กรมอุตุฯ เตือนไทยตอนบน เฝ้าระวังพายุฤดูร้อน ฝนถล่ม ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง

ตำรวจไล่ล่าพรานป่าสาละวิน ฆ่าชาวบ้านแล้ว 2 ราย

เจ้าหน้าที่ยังคงเร่งไล่ล่าตัวพรานป่าสาละวิน ที่แม่ฮ่องสอน ก่อเหตุฆ่าชาวบ้านไปแล้ว 2 ราย พร้อมเสริมกำลังรักษาความปลอดภัยให้ชาวบ้าน เพราะผู้ก่อเหตุยังมีอาวุธปืนและเหลือกระสุนอยู่เกือบสิบนัด หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วครอบครัวของพรานป่ารายนี้แจ้งความกับตำรวจว่าหายตัวไปหลังเข้าไปหาของป่า จนกระทั่งพบว่าลงมือก่อเหตุฆ่าชาวบ้านไป 2 ศพ กลายเป็นบุคคลอันตราย และพบประวัติใช้สารเสพติด