กรุงเทพฯ 22 ส.ค.-ภาคเอกชนจับตาโหวตนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 วอนทุกฝ่ายร่วมมือให้สามารถตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ-ภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญที่มีแนวโน้มรุนแรงและยาวนาน แนะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อเป็นอันดับแรก
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า ภาคเอกชนจับตาและเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 บ่ายวันนี้ (22 ส.ค.66) โดยคาดหวังว่า การโหวตจะเป็นไปด้วยความราบรื่น เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ตามไทม์ไลน์ ไม่ล่าช้าไปกว่านี้ เพื่อให้ได้ ครม.มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญที่มีแนวโน้มรุนแรงและยาวนานต่อเนื่องหลายปี
ขณะนี้ภาคส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ ติตลบต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาดหวัง ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมส่งออกหลายแห่งต้องลดกำลังผลิตลง สตอกอาจล้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ขณะที่การค้าขายในประเทศก็ซบเซา กำลังซื้อประชาชนน้อยลง ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ส่งผลให้ผู้กู้ SMEs ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่ม หนี้ครัวเรือนก็สูงกว่าร้อยละ 90.6 ดังนั้นจึงต้องควรรีบมีรัฐบาลมาแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายลง และหลังมี ครม.แล้วก็ขอให้เร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อ และช่วยเหลือ SMEs เป็นอันดับแรก
ส่วนนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ของพรรคเพื่อไทย ที่จะให้แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปนั้น ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี หากสามารถปิดช่องโหว่ให้ผู้ได้รับเงินใช้จ่ายตรงตามวัตถุประสงค์ เพราะจะทำให้มีเงินจำนวน 5 แสนกว่าล้านบาท หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ 4-5 รอบ ซึ่งจะช่วยกระชากเครื่องยนต์เศรษฐกิจให้ติด แต่ทั้งนี้ต้องมีความรัดกุม ไม่ให้เงินหลุดออกไปนอกระบบ หรือหมุนเวียนในระบบเพียงรอบเดียวเหมือนอย่างที่ผ่านๆ มา
ส่วนการขึ้นค่าแรง 600 บาท ภายในปี 2570 เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่มีมาตั้งแต่ต้น ซึ่งการกำหนดเพดาน 600 บาท ภายในระยะเวลา 4 ปีนั้น นับว่าเป็นการยืดหยุ่นให้กับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง แต่ทั้งนี้การขึ้นค่าแรงควรทำหลังจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าไตรภาคไม่ขัดข้อง และพร้อมสนับสนุน.-สำนักข่าวไทย