กรุงเทพฯ 14 ส.ค. – บมจ.ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 80-86 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 84-90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ยังตึงตัว ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังได้รับแรงสนับสนุนจากสภาวะอุปทานตึงตัว เนื่องจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก และปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังของสหรัฐ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากอุปสงค์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากการขายทำกำไร จากราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
อุปทานน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง หลังกลุ่มโอเปก นำโดยซาอุดีอาระเบีย ขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตลงอีก 1 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปอีก 1 เดือน เป็นสิ้นสุดเดือน ก.ย.66 ขณะที่รัสเซียปรับลดการส่งออกลง 0.3 ล้านบาร์เรล ในเดือน ก.ย.66 โดย OPEC รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC) ในเดือน ก.ค.66 อยู่ที่ระดับ 27.3 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.84 ล้านบาร์เรล/วัน นำโดยการลดลงของซาอุดีอาระเบีย ที่ปรับลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ 9.0 ล้านบาร์เรล/วัน
ปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐ มีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลัง วันที่ 4 ส.ค.66 ปรับลดลง 2.7 และ 1.7 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
รายงานประจำเดือน ก.ค.66 ที่ผ่านมา สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คงอัตราการเจริญเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันในปี 2023 โดยคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล/วัน ไปแตะระดับ 102.17 ล้านบาร์เรล/วัน นำโดยการเพิ่มขึ้นของจีน ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ OPEC ว่าความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้จะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
วิกฤตราคาพลังงานคาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้ราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง โดยราคาก๊าซธรรมชาติของยุโรปปรับตัวมากขึ้นที่สุด นับตั้งแต่ที่มีการเกิดสงครามรัสเซียและยูเครน หลังแรงงานในออสเตรเลียมีการขู่หยุดประท้วงผลิตของโรงงานผลิตก๊าซ LNG 2 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตคิดเป็นระดับ 10% ของการส่งออกทั่วโลก ซึ่งหากราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้มีการหันมาใช้น้ำมันแทน และทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น
อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ ในเดือน ก.ค.66 ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ย หรือปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้น เพื่อชะลอผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 3.2% และ 4.7% ตามลำดับ ซึ่งหากมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย คาดการณ์ว่าจะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
เศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในการชะลอตัวลง และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน สะท้อนจากตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าในเดือน ก.ค.66 ที่ปรับลดลง 14.5% และ 12.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ สะท้อนถึงอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของจีนปรับลดลง 0.3% จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง
เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยและชะลอตัวลง หลัง Fitch Rating ปรับลดอันดับเครดิตของรัฐบาลสหรัฐลงจากระดับ AAA สู่ระดับ AA+ จากความกังวลต่อหนี้สาธาณะของรัฐบาล ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง ในช่วงระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ Moody ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กของสหรัฐ เนื่องจากเริ่มมีความเสี่ยงในการระดมทุน และกำไรที่เริ่มปรับลดลงจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่อยู่ในระดับสูง
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนเดือน ก.ค.66 ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน ก.ค.66 และ GDP ไตรมาส 2 ของยุโรป
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7-11 ส.ค.66)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้น 0.37 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 83.19 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.57 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 86.81 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ ปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 87.89 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากตลาดยังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มตึงตัว จากการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบีย 1.0 ล้านบาร์เรล/วัน ต่อไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.66 และการปรับลดการส่งออกของรัสเซียที่ราว 300,000 บาร์เรล/วัน ในเดือน ก.ย.66 นอกจากนี้ สถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังประธานาธิบดียูเครน กล่าวว่า ยูเครนจะยิงมิสไซล์ไปที่ท่าเรือรัสเซียบ้าง เพื่อเป็นการตอบโต้ หากกองทัพรัสเซียยังคงปิดล้อมน่านน้ำยูเครน และคุกคามมิให้เรือขนส่งธัญพืชเข้าออกท่าเรือของยูเครน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 4 ส.ค.66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.6 ล้านบาร์เรล. – สำนักข่าวไทย