นนทบุรี 7 ส.ค. – รัฐมนตรีพาณิชย์สั่งตั้งวอร์รูมให้ปลัดพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามปัญหาภัยแล้งเกิดทั่วโลก ทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวเปลือก โดยเฉพาะปริมาณข้าวเปลือกนาปรังและนาปีลดลงกว่าล้านตัน โดยให้รายงานสถานการณ์ทุก 2 สัปดาห์ โดยเหตุผลดังกล่าวทำให้ราคาข้าวเปลือกสดสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ตันละ 12,000 บาท พร้อมเร่งติดตามราคาข้าวสารถุงภายในประเทศสูงขึ้น โดยจะเร่งหาวิธีดูแลทุกฝ่ายให้อยู่ร่วมกันได้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต และการตลาดสินค้าเกษตร โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ติดตามสถานการณ์เอลนีโญหรือภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตร และการตลาดพืชผลการเกษตรของไทย โดยมีผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ทูตพาณิชย์จาก 58 ประเทศทั่วโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนราชการอื่น และภาคเอกชนร่วมด้วย โดยมุ่งเน้นเรื่องข้าวเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมประเมินตรงกันว่าสถานการณ์เอลนีโญ รวมทั้งมาตรการห้ามส่งออกข้าวขาวของอินเดีย เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าว ตลาดข้าว และราคาข้าว กรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงว่าสถานการณ์เอลนีโญแบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับอ่อน 0.5-1.0 ระดับปานกลาง 1.0-1.5 และระดับรุนแรง เกินกว่า 1.5 สำหรับประเทศไทย เดือน พ.ค.-ก.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 0.8 ซึ่งช่วงที่มีสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงตอนปี 59 อยู่ที่ระดับ 1.2 และกรมชลประทานรายงานว่าปีนี้ ปริมาณน้ำฝนของไทยจะลดลง 5% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 30 ปี และปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้ คาดว่าจะน้อยกว่าปี 65 ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะมีผลกระทบกับพืชผลการเกษตรอยู่ในเขตชนประทาน
นอกจากนี้กรณีที่อินเดียได้ระงับการส่งออกข้าวขาวเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์รายงานว่าเกิดจากสถานการณ์เอลนีโญและภัยแล้งที่กระทบกับราคาข้าวในอินเดียสูงขึ้น รัฐบาลต้องการให้ราคาข้าวในประเทศลดลงจึงระงับการส่งออก เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ ส่งผลให้ 1.ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น 2.เป็นโอกาสของตลาดข้าวไทย โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา เพราะแอฟริกานำเข้าข้าวจากอินเดีย 3.เกษตรกรขายข้าวเปลือกได้ในราคาสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้า สูงกว่าก่อนอินเดียห้ามส่งออกข้าวประมาณ 7% แต่อาจมีผลลบกับอาหารสัตว์และปศุสัตว์เพราะต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น แต่ราคาตลาดข้าวโลกมีความผันผวน ซึ่งยังไม่นิ่งในขณะนี้ เพราะยังไม่สามารถประเมินราคาข้าวในตลาดโลกได้อย่างชัดเจน แต่ยอมรับว่าปีนี้ไปจนถึงปีหน้าปริมาณข้าวเปลือกของไทยลดลงจากฤดูข้าวนาปังปี 65และข้าวเปลือกนาปี 66/67 โดยมีปริมาณผลผลิตรวม 32.35 ล้านตันลดลง 5.6% จากปีก่อนที่มีปริมาณผลผลิตรวม 34.3 ล้านตัน หรือลดลงกว่า 1-2 ล้านข้าวเปลือก
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติให้ตั้งวอร์รูม ติดตามสถานการณ์เอลนีโญภัยแล้งของโลกและประเทศไทย รวมทั้งติดตามการผลิต การตลาด ราคาข้าวและพืชผลการเกษตรอื่นด้วย ซึ่งวอร์รูมจะประกอบด้วยปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธานและผู้แทนส่วนราชการทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงดีอี และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนและเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง และให้เสนอแนวทางตัดสินใจเรื่องสำคัญต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต่อไป ทั้งนี้ มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต ราคาและการตลาดของพืชเกษตรทุกตัว โดยเฉพาะข้าว รายงานให้กระทรวงพาณิชย์ทราบทุก 1-2 สัปดาห์
สำหรับราคาข้าวในอนาคตได้สั่งการให้หาจุดสมดุล ขณะที่ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นเกษตรกรได้ประโยชน์มากขึ้นจะส่งผลให้ข้าวสารแพงเกินจุดสมดุลหรือไม่ ถ้าแพงเกินก็ต้องกำกับควบคุมให้อยู่ในจุดที่ผู้บริโภครับได้ แต่ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องอยู่ได้ด้วย ให้วินวินทุกฝ่าย ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายและถ้าเสียประโยชน์ให้เสียประโยชน์น้อยที่สุดทุกฝ่าย วอร์รูมมีหน้าที่ต้องไปดู ซึ่งกรณีดังกล่าวแม้ว่าจะส่งผลดีต่อราคาข้าวเปลือกเจ้าโดยเฉพาะข้าวเปลือกเกี่ยวสดมีราคาข้าวเปลือกตันละ 12,000 บาทถือว่าเป็นราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้นเป็นประวัติการที่ราคาข้าวไม่เคยสูงขึ้นมาระดับนี้ ส่งผลดีต่อเกษตรกรอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันราคาข้าวสารที่บริโภคภายในประเทศอาจจะสูงขึ้นไปบ้าง โดยได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปติดตามตรงนี้แล้ว
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวไทย กล่าวว่า ในกรณีอินเดียงดส่งออกข้าวนั้น ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของผู้ส่งออกข้าวไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในเวลานี้ทั้งโรงสีข้าวและผู้ส่งออกยังหาจุดสมดุลในเรื่องของการโคสราคาขายข้าวค่อนข้างลำบากพอสมควร ดังนั้น คงต้องติดตามว่าทางอินเดียจะมีการผ่อนผันในเรื่องงดการส่งออกข้าว เพื่อให้สถานการณ์ข้าวโลกกลับมาเป็นปกติในเร็วๆ นี้ แต่ยังมั่นใจว่าโดยภาพรวมการส่งออกข้าวไทยไปตลาดโลกยังดีอยู่ ซึ่งจากตัวเลข 7 เดือน ไทยส่งออกข้าวไปแล้วกว่า 4.8 ล้านตัน และในช่วงเวลาที่เหลืออีก 5 เดือน ที่คาดว่าจะส่งออกข้าวเฉลี่ยต่อเดือน 7-8 แสนตัน จะทำให้ยอดรวมการส่งออกข้าวไทยในปีนี้เกินกว่า 8 ล้านตันได้แน่นอน และคาดว่าราคารวมส่งออกข้าวไทยจะสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 20 % เป็นไปได้สูง.-สำนักข่าวไทย