นนทบุรี 26 ก.ค.-ปลัดกระทรวงพาณิชย์เผยยอดส่งออกของไทย ล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2566 ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 โดยติดลบที่ 6.4% จากฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา แต่ยังถือว่าดีกว่าหลายประเทศ มั่นใจครึ่งหลังปี 66 สดใสเพราะมียอดคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องทำให้ยอดส่งออกทั้งปีเป็นบวก 1% โดยเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 23,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 24,820 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ 6.4% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เป็นการหดตัวในทุกกลุ่มสินค้า ทั้งสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัว เพราะถูกแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การผลิตและการบริโภคตึงตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ประกอบกับฐานการส่งออกในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ในระดับสูง โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2565 สูงถึง 26,521 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่ การนำเข้าช่วงเดือนมิถุนายน ติดลบร้อยละ 10.3 คิดเป็นมูลค่า 24,768 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี ติดลบร้อยละ 3.5 คิดเป็นมูลค่า 147,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลทำให้ดุลการค้าในช่วงเดือนมิถุนายนเกินดุล 57.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีการค้ายังคงขาดดุลอยู่ที่ 6,307 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และ ความต้องการอาหารทั่วโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรหลายรายการขยายตัวได้ดี เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไข่ไก่ และน้ำตาลทราย
อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้ภาพรวมในครึ่งปีแรก 2566 ( ม.ค.-มิ.ย.66 ) การส่งออกไทยมีมูลค่า 141,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังคงติดลบที่ 5.4% ซึ่งถือว่าดีกว่าหลายประเทศ เช่น การส่งออกครึ่งปีแรกของไต้หวัน ติดลบถึง 18.1% สิงคโปร์ ติดลบ 10% อินเดีย ลบ 8.7% และอินโดนีเซีย ลบ 8.8% เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังปี 66 จะทำงานร่วมกันใกล้ชิดของภาครัฐและเอกชน ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ และสถานการณ์ยังดีกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะหากดูมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ สูงถึงเดือนละ 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดีกว่าค่าเฉลี่ยก่อนช่วงเกิดโควิด ที่ 20,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดีกว่าในเชิงมูลค่า และคาดว่าตัวเลขการส่งออกในช่วงหลังจากนี้ไปมีโอกาสที่จะเป็นบวกและจะทำให้มียอดมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 24,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการทำงาน เพื่อผลักดันการส่งออกในปีนี้ให้ขยายตัวเป็นบวกที่ 1-2% ได้ โดยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าเกษตรที่ยังเติบโต และได้รับอานิสงส์จากการกระจายแหล่งนำเข้าคู่ค้า เพื่อทดแทนแหล่งซื้อเดิมที่ประสบปัญหาด้านผลผลิต
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. บอกว่า หากจะผลักดันตัวเลขการส่งออกในปีนี้ ให้ขยายตัว 1% ใน 6 เดือนที่เหลือ จะต้องทำมูลค่าส่งออกให้เกินเดือนละ 24,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งหากมูลค่ายังทรงตัวในนี้ได้ จะทำให้ตัวเลขการส่งออกในเดือนหน้า (กรกฎาคม) จะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้เป็นเดือนแรกอย่างแน่นอน.-สำนักข่าวไทย