กรุงเทพฯ 19 ก.ค. – นักวิเคราะห์หลักทรัพย์เห็นตรงกันว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองฉุดการลงทุน ชี้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลมากกว่าพรรคก้าวไกล
นายวิจิตร อารยะพิสิษฐ์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลต่อตลาดทุนมาตั้งแต่หลังประกาศผลการเลือกตั้ง แต่ก็เริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ สส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงหรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันนี้ (19 ก.ค ) จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และกรณีสภาฯ ไม่เสนอชื่อนายพิธา ในการโหวตนายกฯ รอบ 2
มองว่ากรณีที่เกิดขึ้นไม่เกินความคาดหมาย เนื่องจากสถานการณ์การเมืองตั้งแต่ช่วงหลังการเลือกตั้ง ยอมรับว่าโอกาสที่พรรคก้าวไกลจะเป็นผู้นำรัฐบาลค่อนข้างยาก โดยประเมินว่าทางเลือกที่เป็นไปได้อาจเป็นพรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิม หรือเป็นการสลับขั้วพรรคจัดตั้งรัฐบาลไปเลย แล้วพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งหากถึงขั้นสลับขั้วจริง คาดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้ามีโอกาสที่พรรคก้าวไกลจะแลนสไลด์ ขณะที่หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล และนายเศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นนายรัฐมนตรี ตลาดน่าจะมีสัญญาณตอบรับเชิงบวก เนื่องจากชื่อของนายเศรษฐาเป็นที่ยอมรับในด้านเศรษฐกิจ
ด้านนายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย มองคล้ายกันว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองอาจฉุดการลงทุน คาดว่าภาคเอกชนจะชะลอการลงทุนจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มีนโยบายชัดเจน งบประมาณปี 2567 ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 ต.ค. 2566 จะถูกเลื่อนออกไปตามร่างแก้ไขของรัฐบาลชุดใหม่ นักลงทุนยังคงกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ เช่น นโยบายความมั่งคั่งร่วมกัน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และอัตราภาษีที่สูงขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ มองว่ารูปแบบพรรคร่วมรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นได้ 3 รูปแบบ คือ รัฐบาลผสมนำโดยพรรคก้าวไกล แต่โอกาสเป็นไปได้น้อย, รูปแบบที่สอง รัฐบาลผสมนำโดยพรรคก้าวไกล และก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ที่ยังมีโอกาสเป็นไปได้ และรูปแบบที่สาม พลิกขั้ว รัฐบาลผสมนำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งหากออกมาในรูปแบบนี้ และการโหวตนายกรัฐมนตรีอาจมีชื่อจากนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทย หรือพรรคขั้วรัฐบาลเดิม และอาจส่งผลให้การ “ลงถนน” เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย