ชลบุรี 5 ก.ค.- อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจ “หมูเถื่อน” คงค้างในตู้คอนเทนเนอร์ 161 ตู้ ที่ด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง มั่นใจสาวถึงผู้กระทำความผิดทั้งขบวนการได้
พันตำรวจตรีสุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำคณะพนักงานสอบสวนตรวจสินค้าเนื้อสุกรลักลอบนำเข้าในตู้คอนเทนเนอร์ 161 ตู้ที่สำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสงขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยตรวจสภาพของกลางทั้ง 161 ตู้จนครบ ก่อนหน้าจะตรวจของกลาง คณะพนักงานสอบสวนได้ประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางเก็บรวบรวมข้อมูลตามข้อกฎหมายและฐานความผิดต่างๆ
ในการตรวจสอบสภาพเนื้อสุกรลักลอบนำเข้าของกลางวันนี้ มีนายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนการค้าภายใน ผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ รวมถึงนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมเข้าร่วมสังเกตการณ์
ทั้งนี้ ในการสอบสวนคดี “หมูเถื่อน” ซึ่งดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษนั้น คณะพนักงานสอบสวนจะใช้ข้อมูลจากคดีการลักลอบนำเข้าสินค้า 161 ตู้ดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อการขยายผลไปสู่การลักลอบทั้งหมดตั้งแต่ปี 2564 – 2566 ซึ่งอธิบดีดีเอสไอมั่นใจว่า จะสาวถึงผู้กระทำความผิดได้ทั้งขบวนการ
สำหรับจุดเริ่มต้นการรับคดี “หมูเถื่อน” เป็นคดีพิเศษ เริ่มต้นจากการที่นายอัจฉริยะนำคดีที่กรมศุลกากรไปยื่นแจ้งต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 และคดีที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติไปกล่าวโทษไว้ที่สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังไว้เมื่อ 27 เมษายน 2566 มายื่นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทั้งหมด เนื่องจากเป็นคดีที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล รวมทั้งคาดว่า มีการทุจริตของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เอื้อต่อการกระทำผิดด้วย
ต่อมาพลตำรวจตรีพุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจกองบัญชาการสอบสวนกลาง ได้มีหนังสือถึง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 10 พฤษภาคม2566 และเอกสารประกอบรวม 159 แผ่น โดยอ้างอิงว่า ด้วยกรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง มีหนังสือที่กค0503/7829 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เรื่อง ขอให้ดำเนินคดี มายังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรณีสำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการตรวจยึดสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง 161 ตู้ ซึ่งเป็นของควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และจากการตรวจสอบพบว่า สินค้าดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ กรณีนี้จึงเป็นการนำเข้าโดยฝ่าฝืนมาตรา31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อกำกัด ตามมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560
จากการสอบสวนปรากฏข้อเท็จจริงคือ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้สำรวจของค้างบัญชีเรืออยู่ในอารักขาของศุลกากรเกินกำหนดเวลา 30 วันจึงได้ออกเอกสารบัญชีของค้างบัญชีเรือ (LIST A) โดยไม่มีใบขนสินค้าอันได้รับรองและไม่ได้เสียอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรที่พึงเรียกเก็บแก่ของนั้นและได้แจ้งไปยังตัวแทนเรือและผู้รับตราส่งตามที่ระบุไว้ในบัญชีเรือเพื่อให้มีการชำระอากรหรีอวางประกันค่าอากรภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาไม่ปรากฏว่า มีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีสิทธิ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงได้ดำเนินการออกเอกสารบัญชีของค้างบัญชีเรือ (LIST F) ต่อไป และแจ้งไปยังตัวแทนเรือ แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของ จึงทำการเปิดสำรวจและพบสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง 161 ตู้ ซึ่งเป็นของควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
จากการตรวจสอบพบว่า สินค้าดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์จริง จึงเป็นการนำเข้าโดยผิดพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และเป็นของอันพึงต้องริบตามกฎหมายศุลกากร ตามมาตรา166 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งจากการตรวจสอบผลการประเมินราคาสินค้าพบว่า สินค้าทั้งหมดมีมูลค่าราคาของ รวมค่าภาษีอากร เป็นเงิน 460,105,949.38 บาท
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำความผิดในคดีนี้ เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ที่จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ จึงขอส่งเอกสารคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายและเอกสารประกอบให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ.-สำนักข่าวไทย