กรุงเทพ 29 มิ.ย.-กรมเจ้าท่า แจงเทคนิคและรูปแบบท่าเทียบเรือ (Technical Hearing) โครงการศึกษาสํารวจออกแบบท่าเรือต้นทาง (Home Port) สําหรับเรือสําราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน
นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม เป็นประธานการประชุมชี้แจงเรื่องเทคนิคและรูปแบบท่าเทียบเรือ (Technical Hearing) โครงการศึกษาสํารวจออกแบบท่าเรือต้นทาง (Home Port) สําหรับเรือสําราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน
กระทรวงคมนาคม มีนโยบายในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบก น้ำ ราง อากาศ ให้มีความเชื่อมโยง สะดวก ปลอดภัย สร้างความสามารถในการแข่งขัน ให้กับประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล โดย กรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีภารกิจในการพัฒนาท่าเรือ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้งาน ทั้งด้านการค้า การสัญจรทางน้ำ และการท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำระหว่างประเทศ ในการสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศ เข้าสู่ประเทศไทย
กรมเจ้าท่าเล็งเห็นว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ (Cruise) มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันประเทศไทย บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน มีท่าเรือสำราญที่สายการเดินเรือสำราญ สามารถเข้ามาแวะพักทางทะเลฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้เพียง 2 ท่า คือ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งแต่ละท่ามีข้อจำกัด ปัญหา อุปสรรค ในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่กำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความจำเป็น ในการให้บริการที่รวดเร็ว ทันสมัย ปลอดภัย และได้มาตรฐานระดับสากล ดังนั้น เพื่อให้มีการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญของประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นทางเลือกการท่องเที่ยวทางน้ำของการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สู่มาตรฐานสากล รวมทั้งการสร้างรายได้ในการนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ไทย
กรมเจ้าท่าจึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ซี สเปคตรัม จำกัด จำกัด/ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด/ บริษัท เซ้าท์อีสท์เอเซียเทคโนโลยี่ จำกัด/ และบริษัท ไพรซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอฟเอเอส จำกัด ศึกษาสำรวจออกแบบท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน (ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี) ประกอบด้วย การออกแบบเบื้องต้น การศึกษาความเหมาะสม การสำรวจออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการวิเคราะห์ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
การศึกษานี้ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นทางด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และสิ่งแวดล้อม โดยในการศึกษานี้ จำเป็นต้องมีการประชุมชี้แจงเรื่องเทคนิค และรูปแบบท่าเทียบเรือ (Technical Hearing) โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวนไม่น้อยกว่า 50 ท่าน เข้าร่วมประชุม เพื่อให้มีข้อซักถาม และรับฟังความคิดเห็น ถึงรูปแบบ การออกแบบ รายละเอียดต่างๆ และผลกระทบระหว่างก่อสร้าง ซึ่งที่ปรึกษาจะได้นำข้อคิดเห็น มาปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการก่อสร้าง และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน ในลำดับต่อไป.-สำนักข่าวไทย