กรุงเทพฯ 19 มิ.ย. – ธปท. เปิดรับฟังความเห็นแนวทางตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ฉบับปรับปรุง 19 มิ.ย.- 4 ก.ค. 2566 คาดส่งคลังพิจารณาใน ก.ค.นี้
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคาร พาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ระหว่างวันที่ 12 ม.ค. -12 ก.พ. 2566 นั้น ธปท. ได้รับความเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และผู้ประกอบ ธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับวัตถุประสงค์และแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ในภาพรวม และมีการสอบถามรายละเอียดของหลักเกณฑ์ในหลายมิติ ซึ่งบางประเด็นมีความสําคัญและอาจกระทบการตัดสินใจหรือการออกแบบแผนงานของผู้สมัคร รวมถึงรูปแบบการประกอบ ธุรกิจของ Virtual Bank ที่จะถูกจัดตั้ง ดังนั้น ธปท. จึงนําความเห็นที่ได้รับมาปรับปรุง ขยายความในประเด็นที่สำคัญให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อให้ผู้สมัครทุกรายได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจอย่าง เพียงพอและเท่าเทียมกัน สรุปสาระสําคัญ ดังนี้
(1) สิ่งที่อยากเห็น (green line) และสิ่งที่ไม่อยากเห็น (red line) ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ธปท. อยากเห็น Virtual Bank ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสม โดยจัดให้มีกลไกที่รองรับและอํานวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังผู้ให้บริการรายอื่น ภายใต้สิทธิของลูกค้าตามกฎหมาย อันสอดคล้องกับแนวนโยบายการเปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Open Data) ของ ธปท. และไม่อยากเห็น Virtual Bank กีดกันหรือสร้างอุปสรรคในการส่งหรือโอนข้อมูลที่ ได้รับความยินยอมจากลูกค้าไปยังผู้ให้บริการรายอื่นภายใต้สิทธิของลูกค้าตามกฎหมาย
(2) คุณสมบัติสําคัญของผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank ขยายความให้ชัดเจนขึ้น ดังนี้
(2.1)ด้านธรรมาภิบาลเพิ่มรายละเอียดว่าห้ามมิให้กรรมการผู้มีอํานาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของ Virtual Bank ดํารงตําแหน่งเป็นกรรมการ ผู้มีอํานาจในการจัดการ หรือพนักงานของ สถาบันการเงินแห่งอื่นในเวลาเดียวกัน เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้บุคลากรดังกล่าวสามารถอุทิศเวลาในการบริหารจัดการงานได้อย่างเต็มที่
2.2) ด้านการใช้เทคโนโลยีและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มรายละเอียดว่า Virtual Bank ต้องไม่ใช้งานระบบ IT ที่ สําคัญร่วมกับสถาบันการเงินรายอื่น เช่น ระบบ Core Banking ระบบ Mobile Banking และระบบ Internet Banking เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงและการพึ่งพาระหว่างกัน (contagion risk) ข้อมูลรั่วไหล และภัยคุกคามด้านไซเบอร์
(2.3) ด้านการเข้าถึง บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย เพิ่มรายละเอียดว่า ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank ต้องแสดงถึงความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูลที่เป็นไปตาม หลักธรรมาภิบาลข้อมูล (data governance) และความสามารถในการพัฒนาระบบข้อมูลและการเชื่อมต่อ เพื่ออํานวยความสะดวกลูกค้าในการนําข้อมูลของตนไปใช้ทําธุรกรรมกับผู้ให้บริการทางการเงินรายอื่น
(3) การคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมให้จัดตั้ง Virtual Bank เพิ่มรายละเอียดว่า ธปท. จะคัดเลือกองค์ประกอบของผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด โดยคํานึงถึงการช่วยตอบโจทย์ green line ได้อย่างมีคุณภาพ ยั่งยืน และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยในภาพรวม
(4) เงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเงื่อนไขการดําเนินกิจการในช่วง 3-5 ปีแรกของ Virtual Bank (ช่วง phasing) ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นที่มีนัยต่อความสําเร็จของ Virtual Bank เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันควร เนื่องจากผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีบทบาทสําคัญในการสร้างธุรกิจในช่วงเริ่มต้นกิจการ
ทั้งนี้ เพื่อให้มี Virtual Bank ในประเทศไทยที่สามารถนําเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งความต้องการของผู้ใช้บริการทางการเงินแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธปท. จึงขอเปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank อีกครั้งในส่วนที่มีการเพิ่มรายละเอียดหรือเงื่อนไขอย่างมีนัยสําคัญ ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.- 4 ก.ค. 2566 โดยสามารถส่งความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของ ธปท. หรือทางอีเมล virtualbank@bot.or.th ทั้งนี้ ธปท. จะนําความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับมาประกอบการจัดทําหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank โดยคาดว่าจะเสนอหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายในเดือน ก.ค.2566 .-สำนักข่าวไทย