SCB EIC คงจีดีพีปี66 ที่  3.9% จับตาตั้งรัฐบาลอาจช้าถึง ต.ค.

กรุงเทพฯ 14 มิ.ย. -SCB EIC คงประมาณการจีดีพีปี 2566 ที่ 3.9% จากบริโภคภาคเอกชน-ท่องเที่ยวฟื้น แม้ส่งออกไม่ค่อยสดใส จับตาตั้งรัฐบาลอาจช้าถึง ต.ค. และเอลนีโญครึ่งปีหลัง คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ที่ 2.5%


ดร.จิตติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า SCB EIC คงประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2566 ไว้ที่ 3.9% ตามการบริโภคภาคเอกชนและภาคท่องเที่ยวรวมถึงภาคบริการที่ฟื้นตัวดี แม้การส่งออกไม่สดใสนัก โดยการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงอยู่ที่ 30 ล้านคน ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสแตะ 1.27 ล้านล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยในปี 2562 มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ด้านการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีไม่สดใสนักและเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญของเศรษฐกิจ

SCB EIC ปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออกสินค้าไทยปีนี้เหลือ 0.5% (จากเดิม 1.2%) จากอุปสงค์โลกที่ยังอ่อนแอ แรงหนุนตลาดส่งออกจีนที่แผ่วกว่าคาด และความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในกรณีฐานเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเผชิญกับเอลนีโญระดับอ่อนถึงรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าจะสร้างความเสียหายในภาคเกษตรราว 40,000 ล้านบาทโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นปีหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงมากอยู่ที่ 2.1% ตามราคาพลังงานในประเทศที่ปรับลดลง แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงเทียบจากอดีตอยู่ที่ 1.7% สะท้อนการทยอยส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตสู่ราคาผู้บริโภคและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว


SCB EIC ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 อยู่ที่ 2.1% (เดิม 2.3%) เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจต้นไตรมาส 2 ออกมาแย่กว่าที่คาดไว้ การฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคบริการยังมีความแตกต่างกันสูงอีกทั้งความเสี่ยงด้านต่ำมีมากขึ้นอาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปี เช่น มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง ความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจมีแนวโน้มถูกกดดันทั้งจากอุปสงค์ที่ลดลง เงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำลง รวมถึงปัญหาความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีโอกาสรุนแรงมากขึ้น

ธนาคารกลางสำคัญมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกไม่เกิน 1-2 ครั้งในปีนี้ จากเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มปรับลดลงช้าตามภาวะตลาดแรงงานที่ยังตึงตัว อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับลดลงเร็วกว่าคาดและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงทยอยกลับมาเป็นบวก วงจรการขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลกจึงมีแนวโน้มใกล้สิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี มาตรการQuantitative tightening ของเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Advanced Economies) จะทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกปรับลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าจะส่งผลต่อตลาดการเงินของเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Markets) ผ่านเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราผลตอบแทนพันธบัตร

เศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งจะยังมีความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และนโยบายภาครัฐ หากไทยได้รัฐบาลใหม่ในช่วงเดือน ส.ค.66 คาดว่าจะส่งผลต่อการเบิกจ่ายของรัฐบาลในปีงบประมาณนี้ไม่มากนัก เนื่องจากรัฐบาลได้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนและเร่งอนุมัติโครงการลงทุนไว้ก่อนยุบสภา อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่อาจล่าช้าไปถึงปลายเดือน ต.ค.66 ซึ่งจะกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 นอกจากนี้ นโยบายหาเสียงสำคัญที่จะผลักดันต่อไปเป็นปัจจัยสำคัญกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ในกรณีฐานSCB EIC คาดว่านโยบายหลักของแกนนำรัฐบาลชุดใหม่จะส่งผลบวกต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการบริโภค รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย ขณะที่บางธุรกิจอาจได้รับผลลบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงบางกลุ่มธุรกิจที่มีประเด็นผูกขาดทางการค้า ด้านหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกฉากทัศน์ของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จากการดำเนินการตามรายจ่ายจากชุดนโยบายหาเสียง นอกเหนือจากแรงกดดันจากรายจ่ายเข้าสู่สังคมสูงอายุที่มีอยู่เดิมสะท้อนความจำเป็นต้องปฏิรูปการคลังเพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง


“หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ก็อยากเห็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว เพื่อให้นโยบายต่างๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หากไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ ต้องรอดูว่าด้วยเหตุผลทางกฏหมายหรืออื่นๆ และต้องดูว่าจะมีขั้นตอนต่อไปอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าเมื่อประชาชนเลือกมาก็ต้องการเห็นการทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ” ดร.จิตติมากล่าว

นอกจากนี้ SCB EIC ยังคาดว่านโยบายการเงินไทยจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องสู่ Terminal rate ที่ 2.5% ในไตรมาส 3 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง และเงินเฟ้อแม้จะกลับมาอยู่ในกรอบแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุน และแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ ภาวะการเงินไทยจึงมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง ในระยะสั้นเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มแข็งค่าและเงินบาทได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากเงินหยวนอ่อนค่า อย่างไรก็ดี เงินบาทจะปรับแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะปรับดีขึ้นหลังความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง และเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะกลับมาอ่อนค่าหลัง Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สามีเข้าเกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาดับ

สลด! สามีขับรถใส่เกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาเสียชีวิตในบ้านพักย่านวิภาวดี ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การเบื้องต้น นำตัวสอบปากคำอย่างละเอียดอีกครั้ง

คุมฝากขัง “เอ็ม เอกชาติ” เจ้าตัวปิดปากเงียบ

ตร.ไซเบอร์คุมตัว “เอ็ม เอกชาติ” ฝากขัง เจ้าตัวปิดปากเงียบ ไม่ตอบคำถามสื่อ ด้านตำรวจพบเส้นทางการเงินจากเว็บพนัน กว่า 30 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ครบ 72 ชม. ตึก สตง.ถล่ม ไม่หยุดค้นหาผู้รอดชีวิต

ปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุตึก สตง.พังถล่ม แม้เวลาผ่านมาครบ 72 ชั่วโมงแล้ว แต่เจ้าหน้าที่้ทุกฝ่ายยังไม่ละความพยายามในการค้นหาผู้รอดชีวิต หวังมีปาฏิหาริย์

นายกฯ สั่งลดขั้นตอนแจ้งเตือนภัย ลั่นยังไม่ได้ SMS แผ่นดินไหว

นายกฯ ลั่น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับ SMS เตือนแผ่นดินไหว สั่งลดขั้นตอนแจ้งเตือน “กรมอุตุฯ ไป ปภ. เข้าเครือข่ายมือถือ” ไม่ต้องผ่าน กสทช. ระหว่าง รอ Cell Broadcast เต็มระบบ ก.ค.นี้

ปภ.ยันไม่มีความรู้สึกสั่นไหว ไม่ใช่ผลจากอาฟเตอร์ช็อก

ปภ.แถลงชี้แจงกรณีสถานการณ์อพยพออกจากอาคาร ยืนยันไม่มีความรู้สึกสั่นไหว ไม่ได้เป็นผลกระทบจากอาฟเตอร์ช็อก ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก