กรุงเทพฯ 11 มิ.ย. – รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ขยายเพิ่มอีก 9 สถานี ตามแนวถนนลาดพร้าว เริ่ม 12 มิ.ย.นี้ ย้ำเปิดให้บริการตั้งแต่ 06.00 น. พร้อมเชื่อมระบบตั๋วร่วม EMV อำนวยความสะดวกประชาชน
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประเมินผลการทดลองให้ประชาชนใช้บริการนั่งรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT สายสีเหลือง) จำนวน 13 สถานี ช่วงสถานีหัวหมาก-สำโรง ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา และได้ปรับปรุงแก้ไขในประเด็นต่างๆ ตามความเห็นของ รฟม. และบริษัทที่ปรึกษาฯ ทุกฝ่ายจึงมีความเห็นสอดคล้องกัน ในการขยายการทดลองเพิ่มเติมอีก 9 สถานี เริ่มตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น. วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้เร็วขึ้น
การทดลองในช่วงแรกไม่มีปัญหาอะไร เพราะประชาชนคุ้นชินกับการนั่งรถไฟฟ้าหลายเส้นทางในกรุงเทพฯ หลังจากนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณถนนลาดพร้าว-ศรีนครินทร์ จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางมากขึ้น เริ่มเลือกซื้อที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม ใกล้เส้นทางรถไฟฟ้า ปรับเปลี่ยนจากเดินทางโดยรถยนต์ มาเป็นรถไฟฟ้ามากขึ้น รถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้เสนอ รฟม. เก็บค่าโดยสาร 15-45 บาท ตามระยะทาง เมื่อเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง พร้อมใช้เคลียริ่งเฮาส์ ระบบแมงมุม อีเอ็มวี (Mangmoom EMV) ของหน่วยงานบริหารจัดการกลางระบบตั๋วร่วมแมงมุม ที่มี รฟม. และธนาคารกรุงไทย ร่วมกันพัฒนาระบบอยู่ในขณะนี้
สำหรับสถานีขยายเพิ่มเติมอีก 9 สถานี จากเดิมทดลองบนแนวถนนศรีนครินทร์ ต่อเนื่องไปตามแนวถนนลาดพร้าวได้ ดังนี้
- สถานีภาวนา
- สถานีโชคชัย 4 เปิดใช้เฉพาะทางเข้า-ออก 2 (ซอยลาดพร้าว 55) และทางเข้า-ออก 3 (ซอยลาดพร้าว 58)
- สถานีลาดพร้าว 71 เปิดใช้เฉพาะทางเข้า-ออก 1 (โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา) ทางเข้า-ออก 3 (ซอยลาดพร้าว 84) และทางเข้า-ออก 4 (ซอยลาดพร้าว 80/3)
- สถานีลาดพร้าว 83
- สถานีมหาดไทย ที่ทางเข้า-ออก 2 (โรงพยาบาลลาดพร้าว) เปิดใช้เฉพาะบันได
- สถานีลาดพร้าว 101
- สถานีบางกะปิ เปิดใช้เฉพาะทางเข้า-ออก 1 (ซอยลาดพร้าว 113) ทางเข้า-ออก 2 (ซอยลาดพร้าว 115) และทางเข้า-ออก 4 (ซอยลาดพร้าว 142)
- สถานีแยกลำสาลี
- สถานีศรีกรีฑา
เมื่อรวมช่วง 13 สถานีที่เปิดให้ทดลองใช้เดิม รวมเป็น 22 สถานี โดยขยายช่วงเวลาให้บริการ 06.00-20.00 น. เพื่อรองรับความต้องการเดินทางในช่วงเร่งด่วนเช้าและเย็นของประชาชน คงเหลือเพียงสถานีลาดพร้าว ผู้รับสัมปทานยังอยู่ระหว่างปรับสภาพทางเท้าและถนนบริเวณโดยรอบให้มีความปลอดภัย รฟม.ตั้งเป้าหมายจะให้รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง สามารถเปิดให้ประชาชนร่วม Trial Run ได้ครบตลอดสาย จำนวน 23 สถานี รวมระยะทาง 30.4 กิโลเมตร โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) ที่จะใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสชายหลักอื่นๆ โดยมีอาคารจอดแล้วจรให้บริการได้บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และสถานีลาดพร้าว. – สำนักข่าวไทย