กรุงเทพฯ 8 พ.ค.-สภาผู้บริโภค ร่วมมือวุฒิสภา ผลักดันกฎหมายปลอดภัยก่อสร้างบนท้องถนน เหมือน อาร์ทิเคิล 6 ของสวิตเซอร์แลนด์ หวังป้องกันอุบัติเหตุตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร กรรมการนโยบาย สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) เปิดเผยว่า ทางสภาฯ ได้ติดตามปัญหาคานปูนขนาดใหญ่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร หล่นทับคนงานเสียชีวิค วานนี้ (7 พ.ค.66) รถที่สัญจรเสียหาย 8 คัน โดยให้นักกฎหมายช่วยดูในรายละเอียด ทั้งในแง่คุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีกในอนาคต โดยเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ก่อสร้าง
โดยมีความชัดเจนว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้มีกลไกหรือกฎหมายป้องกันอุบัติเหตุที่ชัดเจน ดังนั้น หากมีกฎหมายลงโทษ ผู้รับเหมา ผู้รับช่วงก่อสร้าง ให้ชัดเจน ทันกับปัญหา ตั้งแต่ต้นทาง ในการประมูลจนถึงปลายทาง ในการเอาผิดทั้งระบบ ก็จะทำให้ทุกฝ่ายระมัดระวังอุบัติเหตุมากขึ้นกว่านี้
นอกจากนี้ จากปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายครั้ง ทางสภาผู้บริโภคได้ร่วมกับคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ซึ่งมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นประธาน มีการหารือร่วมกัน และจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง และเตรียมผลักดันให้ออกกฏหมายความปลอดภัยการก่อสร้างบนท้องถนน เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีบทบัญญัติ อาร์ทิเคิล 6 เข้ามากำกับดูแล ทั้งการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนให้ได้มาตฐาน มีการลงโทษ บทปรับทางกฏหมายสำหรับผู้กระทำผิด มีองค์กรอื่นขึ้นมากำหนด ในลักษณะของสภาความปลอดภัย เป็นองค์กรอิสระ มีนักวิชาการร่วมกำกับดูแล
“ปัจจุบัน วุฒิสภาได้ร่วมผลักดันร่างกฎหมายเหมือนลักษณะเดียวกับอาร์ทิเคิล 6 ของสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม จากที่กฏหมายยังไม่เสร็จ แต่องค์กรท้องถิ่นสามารถร่างระเบียบ หรือเข้าไปดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ได้ หลายแห่ง ยอดเจ็บ ยอดตายก็ลดลง เช่น อุดรธานี แก้ปัญหาจุดชนกัน ก็ทำให้ลดอุบัติเหตุจากการชนกัน 50 ครั้ง เหลือ 4 ครั้ง ที่ อ. พนัสนิคม จ.ชลบุรี ก็มีการดูแลถนน กำหนดเส้นทาง อุบัติเหตุก็ลดลงเช่นกัน” นพ.อนุชา ระบุ
นายกิตติวัฒน์ ยิ้มย่อง ผู้อำนวยการสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 กล่าวว่า เตรียมเรียกบริษัทผู้รับเหมาและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบมาพูดคุย เพื่อหาสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งประเด็นที่กรมฯ ต้องตรวจสอบ คือ ได้มีการตรวจสอบความปลอดภัยของพนักงานอย่างครบถ้วนหรือไม่ ทั้งเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ และอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของคนงาน หรือเกิดจากอุปกรณ์ที่ชำรุดบกพร่อง
น.ส.รัชนี ภู่พร้อมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 7 กล่าวว่า สำหรับการเยียวยาผู้เสียชีวิตในฐานะที่เป็นผู้ประกันตน จะมีเงินชดเชยจำนวน 1,213,669 บาท โดยจะดูแลเยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตตามระเบียบของประกันสังคมต่อไป
พ.ต.ท.ทศพล ปานกัน สว.(สอบสวน) สน.ท่าข้าม กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันนี้ ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ใด ส่วนวิศวกรที่คุมงานก่อสร้าง แจ้งว่า เช้าวันนี้ต้องเข้าประชุมในเรื่องนี้ร่วมกับ กทพ. จากนั้นในช่วงเที่ยงจึงจะเข้ามาให้การกับตำรวจอีกครั้ง ส่วนประชาชนที่รถได้รับความเสียหายวานนี้ ได้ติดต่อบริษัทประกันภัยเข้ามาลงบันทึกประจำวัน พร้อมเตรียมเจรจาชดใช้ค่าเสียหายจากบริษัทผู้รับเหมาแล้ว 4 ราย. -สำนักข่าวไทย