นนทบุรี 24 เม.ย.-สนค. วิเคราะห์สินค้าไทยที่ครองตำแหน่งแชมป์การค้าโลก จาก Data Analytics Dashboard ในเว็บไซต์ คิดค้า.com พบว่า ทุเรียนสด มันสำปะหลัง ถุงยางอนามัย สับปะรดกระป๋อง และปลาทูน่ากระป๋อง เป็นสินค้าที่ไทยครองตำแหน่งแชมป์โลกในปี 2565 จากส่วนแบ่งการค้าในตลาดโลกสูงเป็นอันดับที่ 1
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์ 5 สินค้าไทยที่ครองตำแหน่งแชมป์ส่งออกโลกจาก Global Demand Dashboard ในเว็บไซต์คิดค้า.com พบว่า ถุงยางอนามัย และปลาทูน่าประป๋อง เป็นกลุ่มแชมป์โลกสินค้าไทยที่โดดเด่น ชี้มีส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่จับตา ทุเรียน มันสำปะหลัง และสับปะรดกระป๋อง เป็นกลุ่มแชมป์โลกสินค้าไทยที่แม้ครองแชมป์เป็นอันดับ 1 แต่คู่แข่งเริ่มชิงส่วนแบ่งตลาดโลกจากไทยไป แนะให้ปรับกลยุทธ์สินค้าพร้อมทั้งขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเพิ่มเติมเพื่อรักษาแชมป์สินค้าไทยเอาไว้
ทั้งนี้ สนค. วิเคราะห์ 5 สินค้าที่ไทยครองตำแหน่งแชมป์โลกที่มีศักยภาพโดดเด่น โดยพิจารณาจากสินค้าไทยที่มีส่วนแบ่งการนำเข้าในตลาดโลกเป็นอันดับที่ 1 ในปี 2565 มีรายละเอียดดังนี้ทุเรียนสด: ไทยส่งออกทุเรียนสดเป็นมูลค่า 3,219.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 โดยตลาดส่งออกหลักของไทยได้แก่ จีน ฮ่องกง และไต้หวัน ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าของโลกพบว่าไทยครองส่วนแบ่งตลาดโลกในทุเรียนสดเป็นอันดับ 1 สูงถึง 93.3% ของมูลค่านำเข้ารวมทั่วโลก โดยลดลงจากปีก่อนหน้า 3.9% รองลงมาเป็นเวียดนาม(6.0%) และมาเลเซีย (0.7%) ตามลำดับ
มันสำปะหลังไทยส่งออกมันสำปะหลังเป็นมูลค่า 1,523.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 โดยจีน เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งคิดเป็น 98.6% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด สำหรับการนำเข้าของโลกพบว่าไทยครองส่วนแบ่งตลาดโลกในมันสำปะหลังเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 46.5% ของมูลค่านำเข้ารวมทั่วโลก โดยลดลงจากปีก่อนหน้า 5.6% รองลงมาเป็นกัมพูชา (34.1%) และลาว (9.1%) ตามลำดับ
ถุงยางอนามัยไทยส่งออกถุงยางอนามัยเป็นมูลค่า 272.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 โดยตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และเวียดนาม ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าของโลกพบว่าไทยครอง โดยมีส่วนแบ่งตลาดโลกในถุงยางอนามัยเป็นอันดับ 1 สูงถึง 44.0% ของมูลค่านำเข้ารวมทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 0.3% รองลงมาเป็นจีน (12.8%) และมาเลเซีย (10.8%) ตามลำดับ
สับปะรดกระป๋องไทยส่งออกสับปะรดกระป๋องเป็นมูลค่า 469.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 โดยตลาดส่งออกหลักของไทยได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย และเยอรมนี ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าของโลกพบว่าไทยครองส่วนแบ่งตลาดโลกในสับปะรดกระป๋องเป็นอันดับ 1 สูงถึง 36.4% ของมูลค่านำเข้ารวมทั่วโลก รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย (25.7%) และฟิลิปปินส์ (18.0%) ตามลำดับ
ปลาทูน่ากระป๋อง ไทยส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเป็นมูลค่า 2,284.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 โดยตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าของโลกพบว่าไทยครองส่วนแบ่งตลาดโลกในปลาทูน่ากระป๋องเป็นอันดับ 1 สูงถึง 24.8% ของมูลค่านำเข้ารวมทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 0.2% รองลงมาเป็นเอกวาดอร์ (15.2%) และสเปน (9.5%) ตามลำดับ
“ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการส่งออกสินค้าหลากหลายชนิด โดยอาศัยความได้เปรียบของแหล่งวัตถุดิบภายในประเทศและเป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาค ทำให้หลายประเทศทั่วโลกไว้ใจสินค้าไทยบางชนิดจนมีส่วนแบ่งการค้าสูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก แต่ก็พบว่าในสินค้าบางชนิด คู่แข่งเริ่มเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดโลกจากไทยไป โดยเฉพาะทุเรียนสด เนื่องจากเวียดนามเพิ่งได้รับอนุญาตให้ส่งทุเรียนสดเข้าประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยในปัจจุบัน ผู้ส่งออกจึงจำเป็นต้องจับตามองคู่แข่งอย่างใกล้ชิด มองหาโอกาสในระดับรายเมือง/มณฑล และพยายามปรับกลยุทธ์สินค้าเพื่อรักษาตลาดเดิมเอาไว้ เช่น ปรับกลยุทธ์มาส่งออกทุเรียนคุณภาพ อินทรีย์หรือเฉพาะกลุ่มเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมถึงหาโอกาสส่งออกในตลาดใหม่ ๆ เพิ่มเติมเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดจีนที่ค่อนข้างสูง” นายพูนพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ สนค. ได้พัฒนาเว็บไซต์ “คิดค้า.com” เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลเศรษฐกิจการค้าเชิงลึกที่สำคัญของประเทศประกอบด้วยข้อมูลเชิงลึกรายสินค้า/บริการสำคัญ รวมทั้งมิติการค้าทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือไว้ใช้งานวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์การค้าได้อย่างเจาะลึกและทันต่อสถานการณ์การค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยใช้แนวคิด Big Data Analytics วิเคราะห์และประมวลผลหลายมิติ หลากมุมมอง โดย “คิดค้า.com” มี Data Analytics Dashboard เผยแพร่แล้วรวม
4 หัวข้อ ได้แก่ ข้อมูลเชิงลึกด้านสินค้าเกษตร (Agriculture Dashboard) ข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจระดับจังหวัด (Province Policy Dashboard) ข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าระหว่างประเทศ (Global Demand Dashboard) และข้อมูลเชิงลึกด้านธุรกิจบริการ (Services Dashboard) โดยผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม และสนใจเทรนด์และข้อมูลแนวโน้มสินค้าไทยในตลาดอื่น ๆ สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์คิดค้า.com หรือเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า “เว็บไซต์คิดค้า มีอะไรมากกว่าที่คาดคิด” .-สำนักข่าวไทย