ธปท.เผยหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งเกินระดับเฝ้าระวังที่ 86.8% ต่อ GDP

กรุงเทพฯ 14 ก.พ. – ธปท.เผยหนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง เกินระดับเฝ้าระวังที่ 86.8% ต่อ GDP คนวัยเริ่มทำงานเป็นหนี้มากกว่าครึ่ง ขณะที่ 1 ใน 4 ของคนวัย 60 ยังต้องผ่อนหนี้ เร่งวางแนวทางแก้ไข หวั่นฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจ ลุกลามเป็นปัญหาสังคม


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน Media briefing แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากระดับ 59.3% ในปี 2553 มาอยู่ที่ระดับ 86.8% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เพิ่มขึ้นในระดับสูง เกินกว่าระดับเฝ้าระวังที่ 80% ต่อ GDP ดังนั้น ธปท. จึงได้จัดทำ “แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” เพื่อสะท้อนข้อมูลเชิงลึกของหนี้ครัวเรือนไทย และสื่อสารหลักการในการแก้ปัญหาหนี้ให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะหากไม่ทำอะไรเพิ่มเติม คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะสูงกว่าร้อยละ 80 ต่อ GDP และอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และอาจลุกลามไปเป็นปัญหาสังคม ซึ่งจะยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น


ด้านนายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า การก่อหนี้สามารถทำได้ตามความจำเป็น หรือเพื่อการลงทุนในการประกอบอาชีพ ถือเป็นหนี้ที่มีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นหนี้เพื่อการบริโภคอาจเป็นหนี้ไม่มีประโยชน์ นอกจากนี้ คนไทยเองยังมีการก่อหนี้ใน 8 รูปแบบที่ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นกับดักจากการเป็นหนี้ได้ เช่น เป็นหนี้เร็ว วัยเริ่มทำงาน อายุ 25-29 ปี มากกว่า 58% เป็นหนี้ และมากกว่า 25% เป็นหนี้เสีย, เป็นหนี้เกินตัว เกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10-25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน ทำให้รายได้เกินกว่าครึ่งต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้ และเป็นหนี้นาน : เกินกว่า 1 ใน 4 ของคนอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ โดยมีหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 415,000 บาทต่อคน รวมทั้งลูกหนี้มักผ่อนจ่ายขั้นต่ำ (เกือบ 40%)

ทั้งนี้ สำหรับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้องทำอย่างครบวงจรให้เหมาะกับลักษณะและสาเหตุุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ และต้องทำอย่างถูกหลักการ คือ แก้ให้ตรงจุด ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ และตั้งใจจริง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และภาครัฐ โดยมีแนวทางการดำเนินการสำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนี้

  1. หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน : เร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว
    การกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีบริการให้คำปรึกษาแก้หนี้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ การสร้างตัวช่วยลูกหนี้ โดยให้มีคนกลางทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการแก้หนี้และไกล่เกลี่ยหนี้ และการผลักดันให้มีกฎหมายที่ช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ไปต่อไม่ไหวได้เข้ากระบวนการฟื้นฟูหรือขอล้มละลายได้ด้วยตนเอง
  2. หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง : ให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้ โดยจะผลักดันให้มีแนวทางแก้ไขปัญหา เริ่มจากหนี้บัตรกดเงินสดที่เป็นหนี้เรื้อรังของลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง มีอายุมากและมีปัญหาทางการเงินรุนแรงก่อน
  3. หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต : ธปท.จะออกเกณฑ์เพื่อให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (responsible lending) และกำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้คืนและลูกหนี้ยังมีเงินเหลือพอดำรงชีพ (macroprudential policy) รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย (risk-based pricing) พร้อมผลักดันให้เจ้าหนี้อื่นเห็นพฤติกรรมดีของลูกหนี้ เพื่อกระตุ้นการรีไฟแนนซ์หนี้ไปยังดอกเบี้ยที่ถูกลง
  4. หนี้ที่ยังไม่อยู่ในตัวเลขหนี้ครัวเรือน อาทิ หนี้ กยศ. สินเชื่อสหกรณ์อื่น และหนี้นอกระบบ : จะมีการติดตามข้อมูลให้ครอบคลุมลูกหนี้ต่าง ๆ มากขึ้น และผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลต่าง ๆ ในการประเมินและติดตามสินเชื่อ อาทิ ข้อมูลพฤติกรรมการจ่ายเงิน เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้นและด้วยต้นทุนการกู้ยืมที่ตรงตามความเสี่ยงของตน

โดย ธปท.จะเร่งผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทางที่วางไว้ ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บังคับใช้ได้จริง เหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเงิน และสามารถดูแลหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินในระยะยาว และภาคการเงินมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง พร้อมรองรับการพัฒนาด้านดิจิทัลและการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้. – สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เจรจาล่ม ตัวแทนจีนไม่พอใจลุกกลางวงเจรจา ยันไม่ติดเงินใคร

เจรจาล่ม ตัวแทนจีนไม่พอใจ ลุกกลางวงเจรจา ยันไม่ติดเงินใคร ด้านบริษัท 9PK นำเอกสารชี้แจง พร้อมขอให้บริษัทจีนช่วยอนุมัติเงินมาจ่ายให้กลุ่มผู้รับเหมาก่อน

จับแล้วโจรบุกเดี่ยวชิงทองกลางเมืองหาดใหญ่

จับแล้วโจรมาเลย์บุกเดี่ยวชิงทองกลางเมืองหาดใหญ่ จนมุมสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ เผยมาหาลูกชายที่ จ.นนทบุรี แต่ลูกไม่ให้เข้าบ้าน

ปิดล้อมจับชายวัย 43 ยิงเพื่อนบ้าน-ตร.เจ็บ 4

ตำรวจปิดล้อมนานถึง 11 ชั่วโมง จับชายวัย 43 ปี ใช้ปืนยิงเพื่อนบ้านและตำรวจที่เข้าระงับเหตุ บาดเจ็บรวม 4 ราย หลังโมโหเพื่อนบ้านติดกล้องวงจรปิดหันส่องไปทางบ้านผู้ก่อเหตุ ยิงแก๊สน้ำตา-ญาติเกลี้ยกล่อม ยังไม่เป็นผล

แผ่นดินไหวขนาด 5.8 ในไต้หวัน-ไม่มีรายงานความเสียหาย

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาไต้หวันรายงานวันนี้ว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาดด 5.8 ที่เทศมณฑลอี้หลาน (Yilan) ซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทห่างไกลทางตจะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

ข่าวแนะนำ

บขส.เสริมรถอีก 1,000 คัน รองรับผู้โดยสารขาออกวันนี้

การเดินทางขาออกในเทศกาลสงกรานต์ 2568 ถือว่ารถโดยสารของ บขส. ยังมีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นวันหยุด มีผู้โดยสารเดินทางแน่นตลอดวัน วันนี้ บขส.เสริมรถอีก 1,000 คัน รองรับผู้โดยสาร

นายกฯ เปิดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2025”

นายกรัฐมนตรี เปิดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2025” ณ ท้องสนามหลวง ฉลองปีใหม่ไทย จัดเต็มปรากฏการณ์สาดความสุขครั้งยิ่งใหญ่ หนุนมรดกไทยสู่ World Event ระดับโลก

สงกรานต์หาดใหญ่ คาดเงินสะพัด 780 ล้านบาท

สงกรานต์หาดใหญ่ จ.สงขลา ปีนี้คึกคัก ททท. คาดมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาร่วมกิจกรรมกว่า 7 หมื่นคน เงินสะพัดทั่วจังหวัดกว่า 780 ล้านบาท

สงกรานต์เชียงใหม่วันแรกชุ่มฉ่ำทั่วทั้งเมือง

สงกรานต์ จ.เชียงใหม่ วันแรกคึกคัก ชาวเชียงใหม่-นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ แห่ร่วมกิจกรรม เล่นสาดน้ำชุ่มฉ่ำทั่วทั้งเมืองตลอดวันจนถึงช่วงค่ำ