กรุงเทพฯ 1 ก.พ. – ธปท. สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สำรวจดัชนีเชื่อมั่นค้าปลีก (RSI) เดือน ม.ค.66 ปรับลดลง จากกำลังซื้อยังอ่อนแอ-ต้นทุนธุรกิจเพิ่มต่อเนื่อง ประเมิน “ช้อปดีมีคืน” กระตุ้นยอดขายไม่เกิน 10% ขณะที่ท่องเที่ยวทยอยฟื้นหนุนความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มเล็กน้อย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index : RSI) เดือน ม.ค. 2566 โดยพบว่าความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนมกราคม ปรับลดลงจากเดือนก่อน ทั้งความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง (Spending per bill) และความถี่ของผู้ใช้บริการ (Frequency) แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจากภาครัฐ อย่างโครงการช้อปดีมีคืน แต่ก็ช่วยกระตุ้นยอดขายได้ในวงจำกัด ประเมินว่ามาตรการช้อปดีมีคืน จะมีส่วนช่วยยอดขายได้ไม่เกินร้อยละ 10 ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอและต้นทุนธุรกิจที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องยังกดดันการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก ขณะที่การท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
การฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกแตกต่างกันมากขึ้น ทั้งประเภทสินค้าและพื้นที่ให้บริการ โดยสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่อาหารขยายตัวได้บ้าง จากกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลาง-บน และมีแนวโน้มได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการช้อปดีมีคืน มากกว่าสินค้าประเภทอื่น สำหรับสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค จะเลือกซื้อเท่าที่จำเป็น นอกจากนี้ร้านค้าที่อยู่ในเขตเมืองและพื้นที่ท่องเที่ยว อาทิ กรุงเทพฯ และปริมาณฑล และภาคใต้ จะฟื้นตัวได้ดีกว่าในพื้นที่อื่น
ธุรกิจค้าปลีกในปี 2566 ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อ ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจกดดันให้ต้องปรับราคาสินค้าอีกระลอก และกระทบกำลังซื้อของผู้บริโภคให้อ่อนแอเพิ่มขึ้น, มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐที่กำลังจะหมดลง ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่ประเมินว่ารายได้จะกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุดในปี 2567
ประเมินการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยรวมใช้จ่ายลดลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเพราะเป็นช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ประกอบกับราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง บั่นทอนกำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย โดยเห็นการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเท่าที่จำเป็น ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลาง-บน เลือกไปใช้จ่ายบางส่วนในต่างประเทศหลังสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวกยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย