กรุงเทพฯ 17 ม.ค.-รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ปี 66 อุตฯไทยยังเติบโตได้ท่ามกลางความเสี่ยงและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง กิจกรรมต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยวกลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้น ในขณะที่การส่งออกสินค้าของไทยแม้มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี(FTA) อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการที่ภาครัฐเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีเพื่อเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ เช่น กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) และซาอุดีอาระเบีย จะสามารถช่วยประคับประคองการส่งออกให้สามารถทรงตัวต่อไปได้ ด้านการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน จากอานิสงส์ของอุปสงค์ที่อั้นมานานในช่วงที่ผ่านมา (Pent-Up Demand) ของนักท่องเที่ยว ประกอบกับประเทศจีนเริ่มเปิดประเทศจะเป็นแรงส่งสำคัญให้การท่องเที่ยวในประเทศของไทยฟื้นตัวกลับไปใกล้ระดับก่อนเกิด COVID-19 ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยังมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่จะสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) เพื่อเป็นแรงหนุนสำคัญในด้านการลงทุนของประเทศ พร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบาย BCG Model เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มคู่ไปกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งต่างๆ จะช่วยเสริมสร้างโอกาสและขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ต่อไป
กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการเติบโตได้มีทั้งหมด 17 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม, การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, เครื่องจักรกลและโลหะการ, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, ดิจิทัล, น้ำตาล, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์, ผู้ผลิตไฟฟ้า, พลังงานหมุนเวียน, เฟอร์นิเจอร์, ยา, ยานยนต์, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, หล่อโลหะ, หลังคาและอุปกรณ์, เหล็ก, และอาหารและเครื่องดื่ม โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว, การส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง และมีการเปิดตลาดใหม่ๆ, ค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ยังคงผันผวน, แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ, โอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในประเทศเศรษฐกิจหลัก, และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ผลจากสงครามการค้า(Trade War) และความรุนแรงของสงครามที่ขยายตัว
กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะทรงตัว มีทั้งหมด 21 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมก๊าซ, แก้วและกระจก, เครื่องจักรกลการเกษตร, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, เครื่องสำอาง เป็นต้น โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง, อีกทั้ง ค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า, และการส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังต้องรักษาแรงขับเคลื่อนในด้านการส่งออกควบคู่ไปกับรักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิต เพื่อให้สามารถช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไปได้ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมีการเปิดตลาดใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน รวมถึง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 13% จากงวดก่อน, โอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในประเทศเศรษฐกิจหลักเช่น สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดและยาวนานต่อเนื่อง
ขณะที่ยุโรปได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตพลังงาน จึงมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนจีนที่กลับมาประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ ซึ่งอาจซ้ำเติมเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงชะลอตัวจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยทั้งธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่างปรับลดตัวเลขการประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2566 เหลือขยายตัวได้เพียง 2.7% และประเมินการค้าโลกในปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น, แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการและประชาชน โดยเฉพาะต้นทุนการกู้ยืม และฐานะการเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ผลจากสงครามการค้า (Trade War) และความรุนแรงของสงครามที่ขยายตัว, รวมทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และประสิทธิภาพแรงงาน.-สำนักข่าวไทย