กรุงเทพฯ 12 ม.ค.- แบงก์ชาติเปิดรับฟังความเห็น เกณฑ์ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา Virtual Bank ใช้เกณฑ์เดียวกับการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เบื้องต้นให้ใบอนุญาต 3 ราย มีผู้สนใจกว่า 10 ราย เปิดรับสมัครได้ภายในไตรมาสแรกปีนี้ คาดว่าธนาคารไร้สาขาจะเปิดให้บริการได้เต็มไตรมาส 2 ปี 2568
นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing : แนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) ว่า ธปท.เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าจะออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ภายในไตรมาส 1/2566 เมื่อออกเกณฑ์แล้วเสร็จ จะเปิดรับสมัครไตรมาส 2/2566 โดยผู้ประกอบการที่ขอยื่นการจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ต้องนำเอกสารรายละเอียดที่เกี่ยวข้องนำส่งให้ ธปท.ด้วย และจะใช้เวลาพิจารณา 6 เดือน และส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่ออีก 3 เดือน โดยจะประกาศรายชื่อที่ได้รับการจัดตั้งไม่เกิน 3 ราย ในไตรมาส 2/2567 และให้เวลา 1 ปี ในการเตรียมความพร้อม และคาดว่าจะเปิดใช้บริการได้ในไตรมาส 2/2568 หรือช่วงกลางปี 2568 โดยการพิจารณาเพื่อให้ใบอนุญาตฯ จะใช้หลักการเดียวกันหมดโดยไม่มีการแยกกลุ่มธุรกิจเพื่อการพิจารณา ในขณะนี้มีประกอบการทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 10 รายให้ความสนใจ ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นต่างชาติประมาณ 3 ราย
สำหรับผู้ขอจัดตั้งต้องมีคุณสมบัติ 7 ด้าน 1.มีแผนธุรกิจตอบโจทย์ ธปท.อย่างยั่งยืน 2.มีธรรมาภิบาล ทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ กรรมการ ผู้บริหารระดับสูง 3.มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล 4.มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ลดต้นทุนการดำเนินงาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์รวดเร็ว โดยระบบต้องไม่ล่มเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี หากล่มต้องกู้ระบบภายใน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง 5.ต้องบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงินได้ 6.สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย และ 7.มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง
ด้าน นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า คุณสมบัติของผู้ที่สนใจจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา คือ ต้องจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศ ทั้งแบบเดี่ยว หรือร่วมกับพาร์ตเนอร์อื่นๆ ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5,000 ล้านบาท หากมีผู้สมัครที่เป็นชาวต่างชาติร่วมด้วยกำหนดให้ร่วมทุนได้ไม่เกิน 25% เนื่องจากเป็นการจดทะเบียนจัดตั้งทำธุรกิจในประเทศไทย ทั้งนี้ หากอ้างอิงตามอำนาจกฎหมายสามารถผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติได้ไม่เกิน 49%ซึ่ง ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกรรมดิจิทัลในไทยเติบโตก้าวกระโดด มีคนใช้ 18 เท่า จำนวนบัญชีโมบายแบงก์กิ้งเติบโต 3 เท่า เห็นว่าคนไทยจำนวนมากมีความพร้อมในการใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล
“สิ่งที่ ธปท.อยากเห็นจากการจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ คือ นำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล โดยมีบริการทางการเงินครบวงจรและเหมาะกับลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเหมาะสมเพียงพอ ลูกค้า ก็จะใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เหมาะกับไลฟ์สไตล์ และช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน เพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม”นางสาววิภาวินกล่าว .-สำนักข่าวไทย