นนทบุรี 30 ธ.ค. – รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ลงพื้นที่ภาคใต้ตรวจสอบราคาพืชผักในจังหวัดสงขลา พบว่า ผักสำคัญเพียงพอต่อความต้องการ และราคายังอยู่ในภาวะปกติ ย้ำผู้ประกอบการติดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน ห้ามฉวยโอกาสขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา และสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดเขต 3-4 สงขลา เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าพืชผัก ณ ตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา พบว่า สถานการณ์ราคาผักที่บางชนิดราคาเคยปรับเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ช่วงวันที่ 18-25 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา และปรับตัวลดลงเนื่องจากขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่งผลให้สถานการณ์ด้านราคา และปริมาณผักในปัจจุบันมีเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่ ราคาผักแต่ละชนิดปรับตัวลดลง โดยปัจจุบันราคาขายปลีก ผักคะน้า 50-60 บาท/กก. ถั่วฝักยาว 50-60 บาท/กก. กะหล่ำปลี 35-40 บาท/กก. กวางตุ้ง 30 บาท/กก. ผักกาดขาว 40-50 บาท/กก. ผักบุ้งจีน 50-60 บาท/กก. ต้นหอม 120-150 บาท/กก. ผักชี 180-200 บาท/กก. พริกขี้หนูจินดา (แดง) 100-120 บาท/กก. มะนาว เบอร์ 1-2 ลูกละ 2-3 บาท เป็นต้น
นอกจากนี้ จากการติดตามสถานการณ์ผักในภาพรวมทั้งประเทศ พบว่า มีปริมาณผักเข้าสู่ตลาดเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ราคาผักเฉลี่ยทั่วประเทศเคลื่อนไหวอยู่ในภาวะปกติ ตลาดค้าปลีกและตลาดค้าส่งมีความสอดคล้องกันในด้านราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น-ลดลง อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะติดตามสถานการณ์ราคาพืชผักในช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างใกล้ชิด และเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการติดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน และห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาโดยเด็ดขาด หากตรวจพบจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ยังได้จัดส่งทีมออกตรวจสอบเครื่องชั่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดสด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้บริโภค โดยเครื่องชั่งในตลาดสดที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว จะติดสติ๊กเกอร์เครื่องหมายรับรอง เพื่อแสดงว่าเครื่องชั่งมีความเที่ยงตรง ผ่านมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือให้ตลาดจัดเครื่องชั่งกลาง เพื่อให้ผู้บริโภคทดสอบน้ำหนักอีกครั้ง โดยใช้อาสาสมัครผู้ช่วยนายตรวจชั่งตวงวัดประจำตลาดสด (อส.ชว.) เป็นผู้ช่วยในการประสานงาน กำกับ และป้องกันการนำเครื่องชั่งที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มีผลให้การร้องเรียนเกี่ยวกับเครื่องชั่งในตลาดสดน้อยลงเป็นลำดับอีกด้วย .-สำนักข่าวไทย