กรุงเทพฯ 21 พ.ย. – รัฐมอบ ธ.ก.ส. จ่ายเงินช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวผ่าน 4 โครงการ วงเงินรวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท
บอร์ด ธ.ก.ส. เห็นชอบดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนานตามนโยบายรัฐบาล เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างยั่งยืน วงเงิน 81,265 ล้านบาท ผ่านโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66 เป้าหมายเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 4.68 ล้านครัวเรือน เริ่มโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร ตั้งแต่ 24 พ.ย.65 เป็นต้นไป โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการโอนเงินวันแรก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้และสภาพคล่องในการใช้จ่าย รวมถึงเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีทางเลือกในการขายข้าวเปลือกในราคาที่สูงขึ้น หรือเหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต วงเงินรวม 81,265 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 กันยายน 2566 โดยมีเป้าหมายเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน ประกอบด้วย มาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่
1) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 โดยสนับสนุนเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีการผลิต 2565/66 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท/ครัวเรือน
2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภัยธรรมชาติ โดยประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
มาตรการคู่ขนาน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างยั่งยืน โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีทางเลือกในการขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่สูงขึ้น ผ่าน 3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ วงเงินสินเชื่อรวม 25,590 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร นอกจากนี้จะช่วยเหลือค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือก 1,500 บาท/ตัน กรณีเกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางตนเอง
4) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66 สำหรับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก เกษตรกรทั่วไป กำหนดวงเงินกู้สำหรับสหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งคิดจากสถาบันฯ เพียงร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ธันวาคม 2566. – สำนักข่าวไทย