กรุงเทพฯ 3 ต.ค.- ธปท. เผยดัชนีเชื่อมั่นค้าปลีก ก.ย.65 ลดลง เหตุกำลังซื้ออ่อนแอ-สินค้าแพง-อุทกภัย ฉุดธุรกิจฟื้นตัว ขณะที่โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย จ้างงานฟื้นตัว แต่ธุรกิจ 25% ยังขาดแคลนแรงงาน ภาคการผลิตกังวล Supply Chain เพิ่มขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือน ก.ย. 2565 พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกในปัจจุบันปรับลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอจากราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงผลกระทบจากอุทกภัยในบางพื้นที่ ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยปัจจัยเหล่านี้ฉุดรั้งการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในระยะต่อไป
ผู้บริโภคบางกลุ่มปรับลดการใช้จ่ายเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยอุทกภัยส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมนอกบ้าน ขณะที่ผู้บริโภคอีกกลุ่มใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่เลือกใช้จ่ายเพียงสินค้าจำเป็นที่มีโปรโมชัน ทั้งนี้ รายได้ที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ และราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นยังคงกดดันความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ขณะที่ ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย เดือน ก.ย. 2565 ซึ่ง ธปท. จัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดยสำรวจผู้ประกอบการรายใหญ่และเอสเอ็มอี ระหว่างวันที่ 1- 26 กันยายน 2565 จำนวน 442 ราย พบว่าการฟื้นตัวของธุรกิจปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่กดดันการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวม โดยภาคการผลิตมีความกังวลต่อปัญหาด้าน Supply Chain เพิ่มขึ้น ส่วนการฟื้นตัวของการจ้างงานในภาพรวมปรับดีขึ้นจากภาคที่มิใช่การผลิตเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจในภาพรวมสะสมสตอกใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า แต่มีธุรกิจราว 17% ที่สะสมสตอกเพิ่มขึ้น เนื่องจากกังวลว่าราคาวัตถุดิบอาจปรับเพิ่มขึ้นอีก
ขณะที่ธุรกิจราว 1 ใน 4 เผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่ส่วนใหญ่ต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 10 % ของแรงงานในปัจจุบัน โดยธุรกิจจะบริหารจัดการปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วยการใช้นโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน
ธุรกิจมีมุมมองดีขึ้นเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน แม้ว่าครึ่งหนึ่งคาดว่าอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) จะลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี แต่มีสัดส่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับการสำรวจในเดือน ก.ค. 65.-สำนักข่าวไทย