นครราชสีมา 2 ต.ค. – ธปท. เตรียมออกหนังสือขอธนาคารพาณิชย์-สถาบันการเงิน ลดแคมเปญจูงใจก่อหนี้เพิ่ม ก่อนออกมาตรการคุมจริงต้นปี 2566 หลังหนี้ครัวเรือนยังสูงกว่าร้อยละ 80 ของ GDP
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพด้านสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. เป็นห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ตัวเลขในไตรมาส 2 ปี 2565 ยังสูงถึงร้อยละ 88 ต่อจีดีพี แม้จะลดลงมาบ้าง แต่ก็ไม่ควรเกินร้อยละ 80 ของจีดีพี โดยข้อมูลของ ธปท. พบว่าสัดส่วนหนี้ร้อยละ 35 เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล อาทิ หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ ซึ่งไม่ใช่สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต แม้จะไม่ใช่หนี้เสียทั้งหมด แต่ ธปท. ก็ไม่ต้องการให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็น
ธปท. ได้วางแนวทางดูแลแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน 3 ด้าน คือ ลดหนี้เดิม ปรับปรุงคุณภาพหนี้ และให้ความรู้ทางการเงินกับลูกหนี้ โดย ธปท. เตรียมออกหนังสือเวียนขอความร่วมมือกับสถาบันการเงิน และนอนแบงก์ เพื่อไม่ให้ออกโปรโมชั่น หรือ แคมเปญที่จูงใจ เพื่อกระตุกพฤติกรรมการเงินไม่ให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่ม เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินจะให้ความร่วมมือ เพราะเป็นสินเชื่อที่ขาดคุณภาพ แม้จะไม่เป็น NPL ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ (win-win) ทั้งสองฝ่าย และในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ธปท.จะออกหลักเกณฑ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ธปท. ยังไม่ได้ออกหลักเกณฑ์หนี้ครัวเรือนเพิ่มเติม เนื่องจากต้องการลดปัญหาหนี้เดิมก่อน และไม่อยากให้กระทบต่อกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อไม่ให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาเป็นปัญหาต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ.-สำนักข่าวไทย