กรุงเทพฯ 23 มี.ค.- อธิบดีกรมชลประทานเผย เตรีอมพร้อมทำ “ลิ่มกระแทกความเค็ม” ผลักดันน้ำเค็มช่วงน้ำทะเลหนุนสูง 28 มี.ค. – 3 เม.ย. นี้ เพื่อไม่เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและบางปะกง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า กรมชลประทานจะร่วมกับการประปานครหลวง (กปน.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เฝ้าระวังค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล อ. เมือง จ. ปทุมธานีช่วงน้ำทะเลหนุนสูงระหว่างวันที่ 28 มี.ค. – 3 เม.ย. นี้โดยเตรียมใช้ปฏิบัติการ “ลิ่มกระแทกความเค็ม” (Water Hammer Operation) เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกจนมีผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาซึ่งจะทำร่วมกับมาตรการบริหารจัดการน้ำอื่นๆ ด้วยคือ การระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้เหมาะสม ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยาได้ทดน้ำหน้าเขื่อนไว้ซึ่งสามารถระบายลงมาเจือจางความเค็มได้ เช่นเดียวกับการระบายน้ำจากคลองพระยาบรรลือผ่านทางสถานีสูบน้ำพระยาบรรลือและสถานีสูบน้ำสิงหนาท 2 จะดำเนินการให้สอดคล้องกับระดับการขึ้น-ลงของน้ำทะเล ตลอดจนควบคุมการเปิดปิดบานระบายของประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเลเพื่อเร่งระบายน้ำเค็มให้ออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
ส่วนที่แม่น้ำบางปะกงได้ควบคุมความเค็ม โดยการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำทางตอนบนของลุ่มน้ำบางปะกง-ปราจีนบุรีได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ขุนด่านปราการชล นฤบดินทรจินดา คลองระบม คลองพระสทึง และคลองพระปรงให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยจะพิจารณาปรับเพิ่มหรือลดการระบายน้ำให้สอดคล้องตามสถานการณ์เพื่อไม่ให้กระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังควบคุมค่าความเค็มที่จุดสูบน้ำการประปาส่วนภูมิภาค สาขาปราจีนบุรีและประตูระบายน้ำหาดยาง อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ไม่ให้เกิน 1 กรัม/ลิตรเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและการใช้น้ำของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
นายประพิศกล่าวต่อว่า กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อควบคุมค่าความเค็มตลอดฤดูแล้งนี้ ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ (กทม.) การประปานครหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด
สำหรับปฏิบัติการ “ลิ่มกระแทกความเค็ม” (Water Hammer Operation) เป็นโมเดลในการไล่ลิ่มความเค็มน้ำทะเลที่รุกเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาที่สถานีสูบน้ำสำแล จังหวัดปทุมธานีซึ่งดำเนินการในฤดูแล้งปี 2562-2563 ซึ่งน้ำต้นทุนน้อย จึงได้ประสานกับกปน. ลดอัตราการสูบน้ำดิบที่สถานีสำแล 2 ชั่วโมงในช่วงน้ำไหลลงเพื่อให้น้ำจืดที่ระบายมาจากตอนบนมีปริมาณมากพอที่จะผลักดันลิ่มความเค็มลงไปได้ เพื่อควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำดิบสำแลไม่ให้เกินค่ามาตรฐานการผลิตน้ำประปาที่ค่าความเค็มไม่เกิน 0.50 กรัม /ลิตร
ผลการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนครั้งนี้ กทม. จะติดตามสถานการณ์น้ำขึ้น – น้ำลงของแม่น้ำเจ้าพระยาในกทม. รวมถึงตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำในแนวริมแม่น้ำเป็นประจำทุกวัน หากมีค่าความเค็มเกินมาตรฐานจะทำการปิดประตูระบายน้ำแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้าไปในพื้นที่
นอกจากนี้กทม. จะจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนตามแนวริมแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมทั้งเฝ้าระวังจุดแนวฟันหลอที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อน ซึ่งได้มีการเตรียมพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณนอกแนวคันกั้นน้ำ
ส่วนคันกั้นน้ำที่มีระดับต่ำ กทม. จะเรียงกระสอบทรายเสริมความสูงบริเวณที่คาดว่า ระดับน้ำอาจจะเอ่อล้นเข้ามาในพื้นที่ได้เช่น บริเวณทางขึ้น – ลงท่าเรือ หรือสะพาน โดยยกระดับความสูงของแนวกระสอบทรายอยู่ที่ระดับประมาณ +2.30 ม.รทก.ถึง +2.80 ม.รทก. นอกจากนี้ยังได้มีแผนการเตรียมพร้อมเพิ่มเติมโดยการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ สำรองกระสอบทรายที่บรรจุแล้ว และกระสอบเปล่าที่พร้อมบรรจุทราย จัดเตรียม Big Bag ตะกร้าใส่ทรายสำหรับเรียงกระสอบ และพนังกั้นน้ำฉุกเฉิน
กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน กทม. จะสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เร่งเข้าดำเนินการแก้ไขได้ในทันที ส่วนชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมของกทม . ที่อาจจะได้รับผลกระทบปัญหาแรงคลื่นกระทบกับพื้นบ้านที่เกิดจากเรือวิ่งผ่านไปมาด้วยความเร็ว ได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกรมเจ้าท่าในการควบคุมและใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับบ้านเรือนของประชาชนแล้ว.-สำนักข่าวไทย